Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

การเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามระบบรีไซเคิลในบ่อดิน
12/9/2546 15:05:39, by
อนันต์ ตันสุตะพานิช

การเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามระบบรีไซเคิลในบ่อดิน

อนันต์ ตันสุตะพานิช

คำนำ
     กุ้งก้ามกราม กุ้งหลวง กุ้งนาง กุ้งใหญ่ เป็นกุ้งชนิดเดียวกัน ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นของไทยเรียกแตกต่างกันไป มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Giant prawn หรือ giant fresh water prawn มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergii de Man เป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีรสชาติดีมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ วงจรชีวิตตามธรรมชาติของกุ้งชนิดนี้ (ภาพที่ 1) ช่วงวัยอ่อนจะหงายท้องว่ายน้ำ อาศัยเจริญเติบโตอยู่ในแหล่งน้ำกร่อย (ความเค็มระหว่าง 10-17 ส่วนในพันส่วน) แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น (Juveniles) ก็จะเดินทางเข้าไปอาศัยเจริญเติบโตอยู่ในแหล่งน้ำจืด

วิวัฒนาการเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกราม
- สมศักดิ์ สิงหลกะ 2520 รายงานการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อซีเมนต์ใช้น้ำเขียว ความลึกประมาณ 85 ซม. ใช้เนื้อปลาโอบด ไรน้ำจืด และไรน้ำเค็มให้เป็นอาหาร ดูดตะกอนทุกวันและเปลี่ยนถ่ายน้ำวันละประมาณ 30% เมื่อลูกกุ้งเริ่มคว่ำก็จะเริ่มลดความเค็มลง
- ไพโรจน์ พรหมานนท์ และทรงชัย วัชรินทร์ 2521, สมศักดิ์ สิงหลกะ และชำนาญ สุขพันธุ์ 2522, เพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามโดยกรองน้ำใช้หมุนเวียน
- อนันต์ ตันสุตะพานิช และคณะ 2524, 2526 ได้เลิกการทำน้ำเขียวหรือเลิกการทำสีน้ำ พร้อมทั้งได้เริ่มต้นนำน้ำเค็มจากนาเกลือ และน้ำเกลือผสมมาใช้ในการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อซีเมนต์ อีกทั้งได้เริ่มต้นใช้ไข่ตุ๋น (ไข่+นม+หอยหรืออาร์ทีเมียโตเต็มวัย) เป็นอาหารลูกกุ้ง ตลอดจนได้เริ่มต้นย้ายลูกกุ้งที่คว่ำแล้ว กับที่ไม่คว่ำออกจากกัน
- อนันต์ ตันสุตะพานิช และคณะ 2537 ได้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อดินเป็นผลสำเร็จ โดยการตากบ่อให้แห้ง และบดอัดพื้นที่บ่อให้แน่น วางท่ออัดอากาศกระจายทั่วพื้นบ่อ ใช้น้ำความเค็มระหว่าง 13-16 ส่วนในพันส่วน ระดับน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ใช้แม่กุ้งที่มีไข่แก่ประมาณ 10-20 กก./ไร่ ใส่กระชังแขวนไว้ในบ่อประมาณ 3-5 วัน ก็ยกกระชังพร้อมแม่กุ้งออกจากบ่อใช้อาหารธรรมชาติ พวกไรน้ำกร่อย ไรน้ำเค็ม (อาร์ทีเมียวัยอ่อน) และอาร์ทีเมียโตเต็มวัยให้เป็นอาหารในระหว่างการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามไม่มีการเปลี่ยนน้ำ
- สำหรับปี 2543 ได้พัฒนานวัตกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามระบบรีไซเคิลในบ่อดิน โดยบำบัดตะกอนเลนและน้ำทิ้งที่ใช้เพาะเลี้ยงลูกกุ้งโดยตรงไม่ได้และที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งรุ่นที่ผ่านมาจนกระทั่งกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วใช้ในการเพาะเลี้ยงลูกกุ้งซ้ำอีก มีปัจจัยในการดำเนินการดังนี้

อุปกรณ์และปัจจัยที่จำเป็นในการดำเนินการมีดังนี้
- น้ำจืดและน้ำเค็มตลอดจนตะกอนเลนที่มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อน สำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง
- บ่อดินที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง (25 x 32 x 2 เมตร) และบ่อสำรองน้ำ (10 x 50 x 2.5 เมตร) สำหรับใช้ทดแทนส่วนที่ระเหยและรั่วซึม ตลอดจนใช้เพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติ พร้อมระบบท่อสูบน้ำหมุนเวียนน้ำด้วยแรงอัดอากาศระหว่างบ่อเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและบ่อสำรองน้ำ
- ระบบอัดอากาศเพิ่มลงน้ำประกอบด้วย เครื่องอัดอากาศเพิ่มลงน้ำ พร้อมเครื่องควบคุมเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็นโอโซน ท่อส่งอากาศหลักวางบนคันบ่อ และท่อส่งอากาศรองวางกระจาย ทั่วพื้นบ่อ (วางท่อส่งอากาศเข้าเลาะข้างคันบ่อด้วย) ระยะห่างระหว่างท่อส่งอากาศรองไม่เกิน 2 เท่าของความลึกของน้ำในบ่อ เจาะรูที่ท่อส่งอากาศรองทุก ๆ ระยะห่างประมาณ 2 เมตร ด้วยดอกสว่านเบอร์ 1/16 - 3/64 เฉพาะส่วนซึ่งวางที่พื้นบ่อ (ส่วน slope ข้างบ่อควรวางท่อเลาะตามแนวบ่อและเจาะรูต่างหาก)
- อวนมุ้งไนล่อนสำหรับรวบรวมศัตรูของลูกกุ้งออกจากบ่อในช่วงก่อนเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและช่วงลูกกุ้งขนาดเล็กที่ยังรอดตาอวนได้ ตลอดจนใช้รวบรวมลูกกุ้ง เมื่อลูกกุ้งคว่ำหมดแล้ว
- คราดพรวนโซ่สำหรับใช้คราดพรวนตะกอนเลนทั้งในบ่อเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง และบ่อสำรองน้ำ
- เครื่องพ่นน้ำให้ตะกอนเลนในบ่อต่างๆ ใช้สูบน้ำฉีดพ่นพื้นบ่อในส่วนที่คราดพรวนโซ่คราดพรวนไม่ถึงให้ฟุ้งกระจาย
- อาหารลูกกุ้งวันอ่อน ได้แก่ ไข่ตุ๋น อาร์ทีเมียขนาดโตเต็มวัย ไรน้ำเค็ม
- แม่กุ้งซึ่งมีไข่แก่
- อุปกรณ์อื่น ๆ เท่าที่จำเป็นนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

การเตรียมบ่อและน้ำก่อนเพาะเลี้ยง
- ไม่ต้องตากบ่อ ไม่ต้องนำตะกอนเลนออกจากบ่อ ไม่ต้องทิ้งน้ำ
- หลังจากสูบน้ำกร่อยที่มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนไปฝากบ่ออื่นแล้วเร่งวางระบบท่ออัดอากาศ เพิ่มลงน้ำให้เสร็จแล้วระบายน้ำเข้าบ่อที่จะใช้เพาะเลี้ยงลูกกุ้งและบ่อสำรองน้ำระดับเท่ากันลึกประมาณ 1.5 เมตร ความเค็มประมาณ 11-13 ส่วนในพันส่วน เปิดเครื่องอัดอากาศเพิ่มลงน้ำต่อเนื่อง ปรับ pH ของน้ำด้วยปูนขาว ให้มีค่าอยู่ระหว่าง 8.0-8.5 พร้อมใช้คราดพรวนโซ่พรวนตะกอนเลนที่พื้นบ่อทุกวัน จนกระทั่งตะกอนเลนและน้ำกลับคืนสู่ภาวะปกติสมดุล แล้วจึงดำเนินการขั้นต่อไป
- ตกตะกอนไอออนของพวกโลหะกลุ่มเหล็ก ซึ่งละลายน้ำอยู่ ให้แยกออกจากน้ำด้วยสารพวกที่เป็นออกซิไดซิ่งเอเจนท์ เช่น สารประกอบพวกไฮโปรคลอไรท์ หรือและโอโซน พร้อมกำจัดศัตรูของลูกกุ้งออกจากบ่อด้วย แล้วใช้คราดพรวนโซ่และเครื่องพ่นน้ำพรวนตะกอนเลนทุกวัน เมื่อน้ำในบ่อกลับคืนสู่ภาวะปกติสมดุลแล้วจึงจะเริ่มใช้ในการเพาะเลี้ยง

การเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง
- หลังจากเตรียมบ่อและน้ำเสร็จแล้ว ยังต้องเปิดเครื่องอัดอากาศผ่านท่อลงน้ำต่อเนื่อง พร้อมคัดแม่กุ้งที่มีไข่แก่ปล่อยลงในกระชังอวนมุ้งไนล่อน (ช่วงตาระหว่าง 16-18 ตา/นิ้ว) ขนาดประมาณ 2x4x0.9 เมตร ซึ่งแขวนไว้ในบ่อก่อนแล้วประมาณ 30 กก./บ่อ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน คัดแม่กุ้งที่ไข่ฟักหมดแล้วขึ้น ส่วนแม่กุ้งที่ฟักไม่ออกก็ให้ยกไปเพาะฟักในบ่อถัดไป
- การให้อาหาร ตราบเท่าที่ในบ่ออนุบาลลูกกุ้งยังมีอาหารธรรมชาติ เช่น โรติเฟอร์ และไรน้ำกร่อยอยู่มากก็ยังคงปล่อยให้ลูกกุ้งกินอาหารธรรมชาติต่อไป ไม่ต้องให้อาหาร แต่เมื่ออาหารที่เกิดเองตามธรรมชาติเริ่มหมดจึงเริ่มให้ไข่ตุ๋นสลับกับอาร์ทีเมียวัยอ่อนประมาณ 5 วัน หลังจากนั้นก็ให้ไข่ตุ๋นสลับกับอาร์ทีเมียขนาดโตเต็มวัย โดยทยอยให้บ่อยครั้งอย่างเพียงพอต่อเนื่องประมาณ 2-3 ชั่วโมง/ครั้ง อย่าให้อาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำเสีย

การควบคุมและรักษาความสะอาดและความสมดุลสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม
- เปิดเครื่องปรับอากาศผ่านท่อเพิ่มลงน้ำอย่างต่อเนื่อง
- สูบน้ำหมุนเวียนด้วยแรงอัดอากาศระหว่างบ่อเลี้ยงลูกกุ้งกับบ่อสำรองน้ำเป็นระยะ ๆ ตลอดการเลี้ยงลูกกุ้ง
- คราดพรวนตะกอนเลน ทั้งในบ่อเลี้ยงลูกกุ้งและบ่อสำรองน้ำทุกวัน วันละครั้ง (เฉพาะช่วงก่อนให้อาหารประมาณ 1 ชั่วโมง) เพื่อป้องกัน ไม่ให้พื้นบ่อเน่า ป้องกันไม่ให้เกิดขี้แดด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรสิต พวกซูโอแทมเนียมในบ่อ
- ตรวจวัด pH ทุกเช้าและหลังฝนตก ถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม 8.0-8.5 แล้ว ไม่ต้องปรับ แต่ถ้าต่ำกว่า 8.0 ให้ใช้น้ำปูนใส (pH 11) ทยอยสาดทั่วบ่อเลี้ยงลูกกุ้งประมาณ 10-100 ซีซี/น้ำ 1 ม3/ครั้ง เฉพาะช่วงก่อนให้อาหารประมาณครึ่งชั่วโมง (ถ้าเป็นช่วงพรวนตะกอนเลนด้วย ก็ให้ใส่น้ำปูนใช้ต่อจากพรวนตะกอนเลนเสร็จ)
- ในช่วงสภาวะแวดล้อมไม่ปกติตั้งเวลาอัตโนมัติ เพื่อเปิดเครื่องเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็นโอโซนประมาณ 3-4 ชั่วโมง เปิดเครื่องประมาณ 15 นาที
- ล้างทำความสะอาด ทั้งเสาหลักและท่อต่าง ๆ ในบ่ออนุบาลลูกกุ้งประมาณสัปดาห์ละครั้ง
- ในช่วงที่ลูกกุ้งยังเล็กลอดตาอวนมุ้งไนล่อนได้ ก็ใช้อวนมุ้งไนล่อนลากรวบรวมแมลงน้ำและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ออกจากบ่อ แต่หลังจากนั้นถ้ามีแมลงน้ำในบ่อมาก ก็อาจจะต้องกำจัดแมลงน้ำด้วยน้ำมัน
- รวบรวมหรือจับลูกกุ้งออกจากบ่อ หลังจากลูกกุ้งในบ่อคว่ำหมดแล้ว โดยใช้อวนมุ้งไนล่อนลากรวบรวมลูกกุ้งแจกจ่ายต่อไป


เอกสารอ้างอิง

ไพโรจน์ พรหมานนท์ และทรงชัย สหวัชรินทร์. 2521. การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม. กรมประมง. 55 หน้า
สมศักดิ์ สิงหลกะ. 2520. การเพาะกุ้งก้ามกรามที่สถานีประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา. รายงานประจำปี 2520-2530. สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดฉะเชิงเทรา. กองประมงน้ำกร่อย. กรมประมง. หน้า 104-107.
สมศักดิ์ สิงหลกะ และชำนาญ สุขพันธ์. 2521. การเพาะกุ้งก้ามกรามโดยระบบน้ำหมุนเวียนแบบง่าย ๆ . รายงานประจำปี 2520-2530. สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารการประมง. ปีที่ 34. ฉบับที่ 6. หน้า 603-613.
อนันต์ ตันสุตะพานิช และพจนีย์ แพงไพรี. 2524. แนวทางเพิ่มผลผลิตลูกกุ้งก้ามกราม. กองประมงน้ำจืด. กรมประมง. 33 หน้า.
อนันต์ ตันสุตะพานิช และคณะ. 2526. แนวทางเพิ่มผลผลิตลูกกุ้งก้ามกราม (การเพาะเลี้ยงลูกกุ้งในน้ำเกลือผสม). กองประมงน้ำจืด. กรมประมง. 33 หน้า.
_____________________________. 2537. การพัฒนาวิธีการเพาะและอนุบาลลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อดิน. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี. กรมประมง. 14 หน้า.


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


  

โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=136

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.