Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

อาหารลูกกุ้ง
12/9/2546 15:20:42, by
ธิดา เพชรมณี

อาหารลูกกุ้ง
ธิดา เพชรมณี
สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
ถ.เก้าแสน ซอย 1 อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทรฯ (074) 311895

     ลูกกุ้งในที่นี้ หมายถึง ลูกกุ้งในกลุ่มกุ้งกุลาดำและแชบ๊วย ในระยะที่หน้าตายังไม่เหมือนพ่อ - แม่ ซึ่งเป็นระยะที่ลูกกุ้งยังอยู่ในโรงเพาะฟักหรือบ่ออนุบาล การอนุบาลเชิงธุรกิจต้องทำแบบเข้มข้น คือ อนุบาลลูกกุ้งด้วยความหนาแน่นสูง เริ่มต้นด้วยการใส่ลูกกุ้งในระยะนอเพลียส 100 ตัว/ลิตร หรือถ้าฝีมือดีมาก อาจจะถึง 200 ตัว/ลิตร ต้องให้อาหารอย่างเพียงพอและต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมตลอดระยะเวลาของการอนุบาล 21-25 วันในประเทศไทย (อุณหภูมิผันแปรอยู่ในช่วง 27-32 ๐C) เพื่อให้ได้ลูกกุ้งพี 15 (โพสลาวา 15) ที่พร้อมจะลงนาหรือบ่อเลี้ยง เมื่อได้ลูกกุ้งนอเพลียสที่ดีมาแล้ว การพิจารณาเลือกและให้อาหารอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นหัวใจของการอนุบาล เพราะความผิดพลาดในเรื่องนี้จะนำมาซึ่งความล้มเหลวอย่างแน่นอน ลูกกุ้งเริ่มกินอาหารเมื่อเข้าระยะโซเอีย มีขนาดแค่ 1 มิลลิเมตร เล็กจนมองแทบไม่เห็น บอบบาง อ่อนแอ ตายง่าย และตายง่ายยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงของการลอกคราบซึ่งเกิดขึ้นทุกวัน เมื่อเป็นอย่างนี้อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกกุ้งในบ่ออนุบาลในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยควรจะเป็นอาหารมีชีวิต หรือพวกแพลงก์ตอน ในช่วงแรกตามด้วยอาหารไม่มีชีวิต หรืออาหารสำเร็จในช่วงหลัง เมื่อลูกกุ้งโตและแข็งแรงขึ้นแล้ว
     ญี่ปุ่นเป็นชาติแรก ในโลกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะและอนุบาลลูกกุ้ง ในกลุ่มกุ้งกุลาดำ-แชบ๊วย เมื่อ 70 ปีก่อน โดยใช้อาหารมีชีวิตคือสเกลีโตนีมา ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่มไดอะตอมเป็นอาหารลูกกุ้งในระยะโซเอีย แล้วใช้อาหารมีชีวิตคืออาร์ทีเมียเพิ่งฟัก ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนสัตว์อนุบาลลูกกุ้งหลังจากนั้น ต่อมามีการศึกษาเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งในกลุ่มนี้อีกมากมายมีข้อมูลในเรื่องอาหารที่ใช้สรุปได้ดังนี้
ระยะโซเอีย   ลูกกุ้งกินอาหารสำเร็จได้แต่แพลงก์ตอนพืช คือ ไดอะตอมมีชีวิตดีที่สุด เพราะล่องลอยได้ดี สอดคล้องกับลูกกุ้ง คุณค่าทางโภชนาการดีและขนาดเหมาะสม เมื่อยังไม่ถูกกินนอกจากไม่เน่าเสีย ไดอะตอมยังเพิ่มจำนวนได้ ช่วยกำจัดสารพิษอย่างแอมโมเนียได้ และช่วยเพิ่มออกซิเจนได้หากได้รับแสงอย่างเพียงพอ
ระยะไมซิส ลูกกุ้งยังอ่อนแอ ตายง่าย ถึงแม้จะใช้อาหารสำเร็จได้ แต่ใช้อาหารมีชีวิตจะดีกว่า อาหารมีชีวิตในระยะนี้ ควรเป็นโรติเฟอร์ ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนสามารถเพิ่มจำนวนได้เมื่อยังไม่ถูกกิน ช่วยกินจุลินทรีย์และของเสียชิ้นเล็ก ๆ ได้
ระยะโพสลาวาต้น ลูกกุ้งโตขึ้น สามารถใช้อาหารสำเร็จได้ ถ้าดูแลคุณภาพของน้ำได้ดี แต่ถ้าใช้อาหารมีชีวิต เช่น อาร์ทีเมียเพิ่งฟักหรือไรน้ำกร่อย จะช่วยให้การอนุบาลง่ายขึ้นมาก ตั้งแต่พี 8 ไปแล้วลูกกุ้งจะเลี้ยงง่ายขึ้นมาก ใช้อาหารสำเร็จที่เหมาะสมได้เลย
     ที่ผ่านมานักเพาะเลี้ยงส่วนใหญ่อนุบาลลูกกุ้งโดยนำวิธีการของไต้หวันมาประยุกต์ใช้ นั่นคือให้อาหารสำเร็จตั้งแต่ระยะโซเอียต่อด้วยอาร์ทีเมียเพิ่งฟักเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับอาหารสำเร็จหรือไข่ตุ๋นตั้งแต่ระยะไมซิส โดยใช้ยาและสารเคมีควบคุมคุณภาพของน้ำและการเกิดโรค การอนุบาลได้ผลดีมีกำไรสูง เมื่อคุณภาพของน้ำที่นำมาใช้ดี และไข่อาร์ทีเมียราคาไม่แพงมาก แต่ปัจจุบันคุณภาพของน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเสื่อมลง ไข่อาร์ทีเมียขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้นมาก ถ้าจะใช้อาร์ทีเมียเพิ่งฟักเต็มอย่างแต่ก่อนก็จะทำกำไรไม่ได้ แต่ถ้าใช้น้อยลงมากโดยไม่ปรับเปลี่ยวิธีก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการอนุบาล หรือทำให้ได้ลูกกุ้งด้อยคุณภาพ เราจึงสมควรเลี้ยงลูกกุ้งแบบอิงธรรมชาติ ไม่ต้องใช้อาร์ทีเมียและเปิดบ่ออนุบาลให้แสงแดดส่องถึง โดยให้อาหารดังนี้
     ลูกกุ้งในระยะโซเอียให้ไดอะตอม คือ คีโตเซอรอส (Chaetoceros gracilis หรือ C. calcitrans) หรือ สเกลีโตนีมา (Skeletonema coatatum) เพราะไดอะตอม 2 ชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการดี มีขนาดเหมาะสมจะใช้ชนิดใดก็ให้ผลดี เพาะเลี้ยงในประเทศไทยได้ดี คีโตเซอรอสสามารถเพาะเลี้ยงในภาคกลางได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 1-3 วัน ส่วนสเกลีโตนีมาจะเพาะเลี้ยงในภาคใต้ได้ตลอดปีโดยใช้เวลา 1-12 วัน ถ้าจัดแสงและอุณหภูมิในบ่ออนุบาลได้เหมาะสม ให้ไดอะตอมเพียงมื้อเดียว ลูกกุ้งจะมีอาหารกินอย่างเพียงพอทุกวันจนเข้าระยะไมซิสด้วยคุณภาพของน้ำที่ดี เพราะไดอะตอมที่รอให้ถูกกินจะเพิ่มจำนวนและช่วยให้คุณภาพของน้ำดีโดยไม่ต้องอาศัยยาและสารเคมีใด ๆ
     อาหารลูกกุ้งในระยะไมซิส ควรเป็นโรติเฟอร์ (Brachionus rotundiformis) หรือโรติเฟอร์ร่วมกับไดอะตอม ไม่ใช่อาร์ทีเมียเพิ่งฟัก ซึ่งโตเกินไปสำหรับลูกกุ้งในระยะนี้ ถ้านำไปลวกก่อนให้ลูกกุ้งก็จะทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง และสูญเสียคุณค่าความเป็นอาหารมีชีวิตที่จะช่วยดูแลคุณภาพของน้ำ โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำชายฝั่งรวมทั้งบ่อเลี้ยงกุ้ง โรติเฟอร์เจริญเติบโตเร็ว เพาะเลี้ยงได้ดีทั้งภาคกลางและภาคใต้ เพาะเลี้ยงเพียง 1 วันก็เก็บเกี่ยวไปใช้ได้ ให้โรติเฟอร์เพียงวันละ 1 ครั้ง ลูกกุ้งจะเจริญเติบโตได้ดี เมื่อลูกกุ้งเข้าระยะโพสลาวายังให้กินโรติเฟอร์ต่อไปได้อีก 3-4 วัน แต่ต้องให้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะลูกกุ้งโตขึ้นมากและแข็งแรงขึ้น ในระยะนี้เราถ่ายน้ำหรือดูดตะกอนอย่างระมัดระวังได้โดยไม่ทำอันตรายลูกกุ้งและนับจานี้ไปจะเลิกให้อาหารมีชีวิตเสียก็ได้ จะใช้อาหารสำเร็จที่ซื้อมาหรือไข่ตุ๋นที่ทำเองก็ได้ ลูกกุ้งชอบกินไข่ตุ๋นมากกว่าอาหารสำเร็จหลายชนิดอาจจะเป็นเพราะไข่ตุ๋นนุ่มและล่องลอยมากกว่าอาหารสำเร็จ และมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเราสังเกตได้ง่ายเมื่อลูกกุ้งกินเหลือ แต่ต้องระมัดระวังคุณภาพของน้ำมากกว่าการใช้อาหารสำเร็จ เพราะเป็นอาหารสดมีน้ำหนักมาก จึงเน่าเสียเร็วกว่าอาหารสำเร็จ
     ในระยะที่อนุบาลลูกกุ้งด้วยไข่ตุ๋นหรืออาหารสำเร็จควรทำสีน้ำให้เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช และรักษาไว้ทำนองเดียวกับในบ่อเลี้ยงกุ้ง จะเป็นผลดีกับลูกกุ้งมาก ทำให้ลูกกุ้งสงบ กินอาหารดี เพราะแพลงก์ตอนช่วยลดความโปร่งใส แพลงก์ตอนช่วยเพิ่มออกซิเจน ช่วยลดแอมโมเนีย แพลงก์ตอนให้สารอาหารที่มีทั้งโปรตีน ไขมัน กรดไขมันที่จำเป็น สารรงควัตถุ วิตามินและเกลือแร่ และยังเหนี่ยวนำให้เกิดจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แพลงก์ตอนพืชในบ่ออนุบาลลูกกุ้งอาจจะเกิดขึ้นจากพันธุ์แพลงก์ตอนธรรมชาติ ที่ติดมากับน้ำหรืออุปกรณ์อื่น ถ้าไม่มีเราใส่ลงไปในบ่อเองได้ เช่น คลอเรลลา คีโตเซอรอส สเกลีโตนีมา หรือสไปรูไลนา เราไม่ต้องใส่ปุ๋ย อาหารเหลือของเสียจากกุ้งจะทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตได้ หากมีแพลงก์ตอนมากเกินไปจนทำให้พีเอชในรอบวันผันแปรมากหรือแพลงก์ตอนตายลง การจัดการจะง่ายกว่าในบ่อเลี้ยงกุ้งมาก เพราะบ่ออนุบาลมีขนาดเล็กและเป็นบ่อซีเมนต์ จะดูดตะกอน ถ่ายน้ำ ใส่พันธุ์แพลงก์ตอนลงไปใหม่ หรือย้ายลูกกุ้งก็ได้ แต่ถ้าอยากจะใช้อาหารมีชีวิตต่อไปอีกควรใช้ไรน้ำกร่อย (Diaphaosoma sp.) แทนอาร์ทีเมียเพิ่งฟัก เพื่อลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศและจะลดต้นทุนได้มาก เพราะอาร์ทีเมียเป็นสินค้านำเข้าราคาแพงที่เราเคยใช้เกินจำเป็นในระยะเวลาที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าไทยนำเข้าไข่อาร์ทีเมียมากที่สุด คือไม่ต่ำกว่า 25% ของไข่อาร์ทีเมียที่จำหน่ายทั่วโลก ไข่อาร์ทีเมียส่วนใหญ่นำมาใช้อนุบาลลูกกุ้งที่จะนำไปเลี้ยงให้ได้ขนาดตลาด เราขายกุ้งได้กิโลกรัมละ 200-300 บาท ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าไข่อาร์ทีเมียไม่ถึง 5% ทั้ง ๆ ที่เขาผลิตสัตว์น้ำราคาแพงหลายชนิด กุ้งคูรูมาก็ขายแพงมากถึงกิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท ถ้าเราเลิกใช้อาร์ทีเมียเราจะลดต้นทุนการอนุบาลกุ้งลงได้ไม่ต่ำกว่า 30% โดยเฉพาะเมื่อราคาไข่อาร์ทีเมีย 1 กิโลกรัม พอ ๆ กับราคาข้าว 1 เกวียน อย่างทุกวันนี้ที่สำคัญ คือ มีแนวโน้มว่าไข่อาร์ทีเมียจะขาดแคลนอย่างหนักจนถึงขั้นขาดตลาดในอนาคตอันใกล้ หลังจากกรมประมง โดยสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ศึกษาหาวิธีผลิตไรน้ำกร่อยได้ กรมประมงโดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรังก็นำวิธีผลิตไรน้ำกร่อย ไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพผลิตลูกกุ้งปีละ 30 ล้านตัว โดยไม่ต้องใช้อาร์ทีเมียเลย ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของไรน้ำกร่อยที่จะนำมาใช้แทนอาร์ทีเมียเพิ่งฟัก ไรน้ำกร่อยเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำชายฝั่งเช่นเดียวกับโรติเฟอร์และถ้าเราช่วยกันผลิต ช่วยกันใช้ เราจะเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถผลิตแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่น ที่มีขนาดใกล้เคียงและมีคุณค่าทางโภชนาการเท่าเทียมกับอาร์ทีเมียเพิ่งฟักใช้แทนอาร์ทีเมียเพิ่งฟักได้
      เนื่องจากประเทศไทย ยังมีพื้นที่และแรงงานที่มีคุณภาพ เป็นประเทศในเขตร้อนชื้นที่อาหารสำเร็จที่เหลือในบ่ออนุาลเน่าเสียได้เร็ว และต้องการผลิตกุ้งเพื่อการส่งออก จึงควรใช้ต้นทุนให้ต่ำที่สุด ในการผลิตกุ้งที่มีคุณภาพสูง และมีอัตรารอดสูง โดยไม่ต้องใช้ยาและสารเคมีเพื่อกำจัดโรคหรือจัดการน้ำ การอนุบาลลูกกุ้งอิงธรรมชาติ โดยการใช้แพลงก์ตอนที่เราเพาะเลี้ยงได้เองจะช่วยลดต้นทุนได้มาก ไม่ต้องใช้อาร์ทีเมียลูกกุ้งจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ต้องตระหนักว่าในช่วงที่ยังอยู่ในโรงเพาะฟักลูกกุ้งยังเล็กมาก ลอกคราบทุกวัน หรือแทบทุวันขณะที่แสงและอุณหภูมิมีการผันแปรไปตามธรรมชาติไม่คงที่เหมือนการใช้อุปกรณ์ควบคุม นักเพาะเลี้ยงจึงต้องเอาใจใส่สม่ำเสมอและคอยจัดการให้แสงและอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่ไม่ทำให้แพลงก์ตอนและลูกกุ้งมีปัญหา นั่นคือแดดไม่จ้ามากและอุณหภูมิอยู่ในช่วง 27-32๐C ถ้ามีการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนเป็นอาชีพ การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนจะเป็นธุรกิจใหม่ในวงจรของการเลี้ยงกุ้งที่น่าสนใจ เพราะลงทุนต่ำ ได้ผลผลิตเร็ว ทำกำไรได้ และให้ความสะดวกกับโรงเพาะที่ไม่พร้อมจะผลิตแพลงก์ตอนใช้เอง ช่วยให้เงินตราหมุนเวียนอยู่ในประเทศ และช่วยลดต้นทุนการผลิตพันธุ์กุ้งลง


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=137

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.