Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

การเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบยั่งยืน(เสวนา 7)
12/9/2546 15:24:21, by
ผศ.ดร.ชะลอ ลิ้มสุวรรณ

การเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบยั่งยืน
ผศ.ดร.ชะลอ ลิ้มสุวรรณ
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 กำลังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรเพียงชนิดเดียวในขณะนี้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องราคาในขณะที่ราคาพืชผลเกษตรทุกชนิดมีปัญหาจนรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สาเหตุที่สำคัญทำให้ราคากุ้งกุลาดำสูงมากในปีนี้เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศเอควาดอร์ประสบปัญหาโรคดวงขาว (ตัวแดงดวงขาว) ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก คาดว่าในปีนี้ผลผลิตของประเทศเอควาดอร์จะลดลงอีกประมาณ 50,000 เมตริกตัน จากราคาที่สูงมากในขณะนี้ทำให้มีการขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งมากจนน่าเป็นห่วงว่าหากไม่มีระบบการเลี้ยงที่ดีแล้วนอกจากจะมีปัญหาในการเลี้ยงจะต้องมีปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
     ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยส่งกุ้งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่งในขระที่การส่งกุ้งไปยังสหภาพยุโรปมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากเนื่องจากปัญหาเรื่อง จีเอสพี (GSP) ที่ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมากจนไม่อาจจะแบ่งปันกับประเทศอื่น ส่วนการส่งกุ้งไปยังประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 4 ในขณะที่อินเดียส่งกุ้งเข้าประเทศญี่ปุ่นอันดับ 1 ตามมาด้วยอินโดนีเซียและเวียดนาม จะเห็นได้ว่าตลาดใหญ่ของประเทศไทยมีเพียงตลาดเดียว ซึ่งอนาคตถ้าเศรษฐกิจของประเทศอเมริกาไม่ดีอาจจะเกิดปัญหาได้ ในเรื่องการผลิตนั้นประเทศไทยเป็นผู้นำมาตั้งแต่ 2534 จนถึงปัจจุบัน มีการเลี้ยงที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องแต่ในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อมีการค้าเสรีทั่วโลก ประเทศผู้ซื้อกุ้งจะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของเขา ซึ่งเราอาจมองว่าเป็นเงื่อนไขที่จะกีดกันทางการค้าก็ได้ สิ่งที่เกษตรกรในขณะนี้จำเป็นต้องปฏิบัติ คือ
1. การผลิตสินค้าเกษตรใด ๆ ก็ตามต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด สินค้าที่ทาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมได้รับการต่อต้านและอาจจะไม่สามารถจะส่งออกไปต่างประเทศได้ ดังนั้นระบบการเลี้ยงกุ้งในบ้านเราในอนาคตจะต้องเป็นระบบที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงด้วยระบบน้ำหมุนเวียนจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะฟาร์มกุ้งที่เลี้ยงด้วยระบบความเค็มต่ำจะต้องมีการจัดการระบบที่ชัดเจนไม่มีผลกระทบต่ออาชีพอื่น ๆ โดยรอบ เช่น มีคูน้ำจืดรอบบ่อเลี้ยงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเกลือออกไปสู่ภายนอก มีบ่อพักน้ำมากพอที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดการเลี้ยงและในขณะที่จับกุ้งโดยทั่วไปแล้วควรมีพื้นที่บ่อเลี้ยงและบ่อพักน้ำในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงด้วยความเค็มปกติบริเวณชายฝั่งทะเลในอนาคตจะต้องมีการบำบัดน้ำก่อนที่จะปล่อยออกไปเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
2. การใช้สารเคมีและยาอย่างถูกต้องในปัจจุบัน มีการใช้สารเคมีและยา รวมทั้งอาหารเสริมและจุลินทรีย์กันอย่างแพร่หลาย ในอนาคตอันใกล้นี้จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดจน สารเคมีและยาต่าง ๆ ที่จะใช้ได้จะต้องรับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกรมประมงและอาจจะต้องอ้างอิงตามประเทศผู้ซื้อกุ้งด้วยว่าอนุญาตให้ใช้สารเคมีชนิดใดบ้าง ในขณะนี้มีการใช้สารเคมีและยาเกินความจำเป็น นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นด้วยแล้วอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของการส่งออกได้ในอนาคต เนื่องจากประกาศผู้ซื้อกุ้งต้องการให้แน่ใจว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค
3. สุขอนามัยในฟาร์มที่ดี ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับสุขอนามัยในฟาร์ม ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกาศผู้ซื้อกุ้งจะมีบทบาทมากโดยเฉพาะสหภาพยุโรป จะใช้มาตราฐานความปลอดภัยของวัตถุดิบมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ซื้อสินค้า เพียงแต่สงสัยว่าไม่ปลอดภัยเท่านั้นโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิชาการ ประกาศผู้ซื้อสามารถยุติการซื้อได้ เรื่องสุขอนามัยในฟาร์มรวมทั้งเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกษตรกรใช้อยู่น่าจะเป็นปัญหาที่น่ากลัวมาก ในอนาคตเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรที่ประสานติดต่อกับทางภาครัฐตลอดเวลาเพื่อทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้
4. ลดต้นทุนในการผลิต ในปัจจุบันนี้แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในด้านการผลิตกุ้งติดต่อกันมายาวนานแต่เราต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนของเราก็สูงที่สุดเช่นเดียวกัน เมื่อใดผลผลิตกุ้งทั่วโลกมีมากพอประเทศผู้ซื้อกุ้งมีโอกาสเลือกซื้อกุ้งได้มากขึ้น ประเทศไทยจะประสบปัญหารุนแรงที่สุด ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาทจำเป็นต้องหาวิธีการเลี้ยงและการจัดการอย่างเหมาะสมที่จะทำให้ต้นทุนลดลง เมื่อเกิดปัญหากุ้งล้นตลาดแล้วราคาต่ำลงมากก็อาจจะไม่ขาดทุน แต่ละฟาร์มต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ของตนเองและวิธีการเลี้ยงเพื่อที่จะทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จและควบคุมต้นทุนในการผลิตได้ วิธีเลี้ยงบางระบบอาจจะเหมาะสมกับบางพื้นที่แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับอีกหลายพื้นที่ ผู้เลี้ยงต้องนำเอาข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาให้รอบคอบและดัดแปลงให้เหมาะสมกับฟาร์มของตนเอง

     เนื่องจากในขณะนี้แม่พันธุ์กุ้งทั้งหมดมากจากการจับตามธรรมชาติ ทำให้มีปัญหาเรื่องจำนวนและคุณภาพที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล และจากข้อมูลผลการเลี้ยงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ต้องยอมรับว่าคุณภาพแม่กุ้งลดลงไม่สามารถเลี้ยงให้ได้ผลผลิตใกล้เคียงกับในยุคแรก ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้วทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังที่จะเลี้ยงแม่พันธุ์กุ้งให้ได้สายพันธุ์ที่ดี โตไวและปลอดภัยจากโรคไวรัส โดยเฉพาะไวรัสดวงขาว รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้และร่วมมือกับภาคเอกชนให้สามารถผลิตแม่กุ้งมีคุณภาพสำหรับรองรับธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีปัญหาโรคกุ้งระบาดรุนแรง คือช่วงปลายปีถึงต้นปีเนื่องจากแม่กุ้งตามธรรมชาติมีการติดเชื้อดวงขาวมาก ดังนั้นโรคกุ้งที่นำมาเลี้ยงจึงมีโอกาสติดเชื้อสูงด้วย
     ถ้าเกษตรกรไทยให้ความร่วมมือ และภาครัฐให้ความสนใจอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จะเป็นอาชีพที่นอกจากจะทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการแล้วยังสามารถนำเงินเข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติ และจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ในที่สุด


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=138

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.