Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน(เสวนา 9)
12/9/2546 15:51:50, by
บรรจง นิสภวาณิชย์

ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน
บรรจง นิสภวาณิชย์

      ปัจจุบันเศรษฐกิจเมืองไทยมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจทางด้านการเกษตรก็ยังไม่พ้นวิกฤตอันนี้ด้วยเช่นกัน แต่มีธุรกิจภาคการเกษตรบางอย่างได้รับผลดีกับเศรษฐกิจตัวนี้ เช่น ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพราะว่าเมื่อมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจค่าเงินบาทลดลง แต่กลับทำให้ราคาผลผลิตกุ้งกุลาดำกลับมีราคาเพิ่มขึ้น (ตามค่าเงินบาท) จึงทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำมีฐานะดีขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นทางบวกอย่างเดียวก็ได้ (สำหรับเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ) สำหรับเกษตรกรที่ประสบความล้มเหลวในการเลี้ยงกกุ้งกุลาดำหรือการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็ยังมีอยู่มาก เพราะว่าจะมีแต่การคุยถึงคนที่ทำได้สำเร็จ ไม่มีใครพูดถึงความล้มเหลวเลยแม้แต่น้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ จึงได้สัมผัสกับความสำเร็จและความล้มเหลวของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยค่อนข้างดีทีเดียว จึงใคร่จะประมวลสิ่งที่ดีและไม่ดีมาเล่าให้ฟังกัน อาจจะไม่เป็นวิชาการ ก็ถือว่าเรามาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะครับ
     ในทางปฏิบัติของเกษตรกรทั่ว ๆ ไปนั้นก็จะมีหลักเกณฐ์ในการประกอบอาชีพตามที่มีผู้รู้บอกมาตามที่เคยทำมาแล้วประสบผลสำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสัจธรรมของการดำรงชีวิตเพื่อการอยู่รอด ซึ่งในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเมื่อเริ่มต้นนั้น เราจะใช้หลักการของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นแนวทางในการสร้างฟาร์ม หาทำเลฟาร์ม หลักการก็คือการหาทำเลที่จะสร้างโรงเพาะฟักจะต้องมีแหล่งน้ำที่ดี, อากาศที่ดี, สาธารณูปโภคต้องดีและอยู่ใกล้กับตลาดที่จะทำการขายสินค้านั้น ๆ ได้ เมื่อผมเริ่มทำกิจการโรงเพาะฟักผมก็มีความคิดอย่างนี้ ตามตำราบอก เพราะว่าผมได้รับความรู้ตามทฤษฎีมาเช่นกัน เมื่อทำฟาร์มไปได้ระยะหนึ่ง จึงเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แหล่งน้ำอากาศที่คิดไว้นั้นหายากแล้ว เราจะต้องทำให้น้ำที่ไม่ดีใช้ไม่ได้มาเป็นน้ำที่ใช้ได้ปลอดภัย
      สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในช่วงที่เราเรียนอยู่นั้น วิชาที่อาจารย์ที่สั่งสอนเรามานั้นบางวิชาไม่ได้คิดว่าจะได้ใช้เท่าใดนัก เวลาที่อาจารย์พยายามที่จะให้เราได้รับความรู้เรากลับไม่สนใจละเลยความเอาใจใส่ของอาจารย์ แต่เมื่อผมได้ออกมาประกอบอาชีพของตัวเองแล้วถึงได้รับรู้ความจริงว่าทุกวิชาที่อาจารย์ได้พยายามบรรจุให้เรานั้นมีความหมายอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นมีอยู่ครั้งหนึ่งผมมีปัญหาเกี่ยวกับแม่กุ้งนำเข้ามาอนุบาลแล้ว มีอายุได้ประมาณ 2-3 วันก็ตายโดยหาสาเหตุไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดเป็นเพราะอะไร แต่จะเกิดเพราะอะไรอย่าไปสนใจเอาเป็นว่าเมื่อมันเกิดปัญหาแล้วผมจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ มิฉะนั้นงานของผมจะไม่สำเร็จ ผมมีปัญหาอยู่นานพอสมควร สุดท้ายเราก็ตรวจได้ว่า เกิดจากการที่น้ำมีสารปนเปื้อนมากจนไม่สามารถรับของเสียเพิ่มได้อีกแล้วจึงทำให้เวลาเราให้อาหารแม่กุ้ง แล้วมีมีของขับถ่ายออกมาจะทำให้เกิดแอมโมเนียขึ้นซึ่งในสภาพปกติจะไม่เป็นพิษมากมาย แต่ในสภาวะที่เลวร้ายของน้ำจึงทำให้เกิดความเข้มข้นของแอมโมเนียมากจนเกินปริมาณที่สัตว์น้ำจะรับได้ จึงทำให้แม่กุ้งตายในที่สุด เราแก้ปัญหาโดยการใช้ฟอร์มาลิน 2-5 พี พี เอ็ม ทุก ๆ 3 ชม. เท่านั้นเองปรากฏว่าแม้กุ้งหยุดตาย อันนี้เป็นเพราะอะไรบางท่านอาจทราบแล้วแต่บางท่านอาจจะบอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เรามาพูดถึงเหตุผลกันดีกว่า แอมโมเนียเป็นด่างใช่ไหมครับเมื่อทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลีนซึ่งเป็นกรดอ่อนแล้วได้อะไร จะต้องได้เกลือกับน้ำใช่ไหมครับอันนี้เป็นการยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้ดู โดยนำเอาวิชาเคมีเบื้องต้นมาใช้ ยังมีอย่างอื่นที่ต้องพึ่งวิชาที่อาจารย์ได้สอนอีกมากมาย ถ้าไม่ได้วิชาที่เรียนมาแล้วผมว่าผมคงไม่เป็นผมทุกวันนี้ เพราะว่าตั้งแต่ที่เริ่มทำงานมา ผมได้นำเอาวิชาที่อาจารย์สอนมาใช้หลากหลายมาก จนต้องหาตำราเก่า ๆ มาทบทวนและหาความรู้ใหม่เพิ่มแล้วด้วยซ้ำ ฉะนั้นถ้านิสิตคณะประมงท่านใดที่ได้อ่านก็ขอให้จงมีความตั้งใจที่จะไขว่คว้าหาความรู้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ดังนั้นการจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะทำให้ยั่งยืนได้ต้องมีความรู้ เป็นพื้นฐานหลายด้านมิเช่นนั้นแล้วก็จะเหมือนบางท่านที่มีวิชาแต่พยายามที่ไปเลียนแบบคนอื่นทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ไม่พยายามใช้เหตุผลวิชาความรู้ของตัวเองมาไตร่ตรองให้ดี จึงเป็นผลให้เกิดความล้มเหลวตามมา สุดท้ายถ้าอยากให้ธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คงจะต้องใช้สุภาษิตที่ว่าสูงสุดคืนสู่สามัญ เมื่อการเลี้ยงกุ้งในตอนเริ่มแรกเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ได้แก่ การเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่น เน้นผลผลิตสูง ๆ ดึงสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติไปใช้ นำสิ่งแปลกปลอมใส่ลงในธรรมชาติเลยทำให้สภาพของดินน้ำในธรรมชาติเกิดมลพิษที่ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้ง ในการนี้เราได้ปฏิบัติกันแล้วคือการคืนธรรมชาติให้กับสิ่งแวดล้อมและไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเริ่มช่วยกันปลูกต้นไม้ในบริเวณบ่อกุ้งและบริเวณรอบ ๆ บ่อกุ้ง รวมถึงการที่จะพยายามนำเอาปุ๋ยและเกลือที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของน้ำ เพื่อให้มวลของน้ำมีความสามารถที่จะรับเอาปริมาณออกซิเจนได้มากขึ้น ลดความหนาแน่นในการเลี้ยง การที่จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือนักวิชาการในปัจจุบัน เรายังมองข้ามความสะอาดในพื้นที่ที่เราทำการเพาะเลี้ยง จะมุ่งแต่อย่างเดียวว่าเพาะและเลี้ยงให้ได้ผลผลิตให้มากที่สุดแต่ความจริงทุก ๆ อย่างต้องไปด้วยกันอย่างผสมผสานจึงต้องมุ่งเน้นทุก ๆ อย่าง


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=140

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.