Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

พีซีอาร์ VS โรคตัวแดงดวงขาว
13/6/2546 10:36:46, by
อ.นายสัตวแพทย์ วิศณุ

พีซีอาร์ VS โรคตัวแดงดวงขาว
(ใครอยู่ใครไป?)
บทความจาก วารสารริมบ่อฉบับล่าสุด
อาจารย์นายสัตวแพทย์ วิศณุ บุญญาวิวัฒน์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์


     โรคไวรัสตัวแดงดวงขาวการระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2537 จนถึงปัจจุบันโรคนี้ก็ยังพบระบาดอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างมากมายจนเหลือที่จะประมาณได้ แม้ว่าเกษตรกรจะพยายามใช้วิธีการต่างๆไม่ว่าจะเป็นการฆ่าทำลายพาหะ การพักน้ำให้นานขึ้น การฆ่าเชื้อในน้ำ การตรวจลูกพันธุ์กุ้งกุลาดำด้วยพีซีอาร์ก่อนนำไปเลี้ยง มาตรการต่างๆเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดในหลายๆฟาร์ม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร คือโรคตัวแดงดวงขาวยังมาเยี่ยมเยือนกันอยู่บ่อยๆ จนหลายๆท่านก็เกิดอาการท้อแท้กับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หันไปเลี้ยงกุ้งขาวแทน แต่โรคตัวแดงดวงขาวก็ยังตามมารังควาญเช่นเดิมแม้จะเป็นการเลี้ยงเพียงครอปแรกก็ตาม
          คำถามในใจของเกษตรกรจึงเกิดขึ้นมากมาย แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปดี? การจัดการเรื่องการฆ่าไวรัสในน้ำในพาหะยังไม่ดีพออีกหรือ? การจัดการในบ่ออะไรที่เป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดโรคตัวแดงดวงขาวขึ้นมา? แล้วเราจะตรวจพีซีอาร์กันต่อไปดีหรือไม่ เพราะตรวจแล้วได้ผลว่าผ่านคือไม่พบไวรัส ทำไมนำไปเลี้ยงแล้วถึงตายเหมือนเดิม? ผลแลปพีซีอาร์แต่ละแลปบางที่รายงานไม่ตรงกัน ไม่รู้จะเชื่อใครดี?
          คำถามเหล่านี้คงตอบยาก ผมคงตอบได้ไม่หมดแต่จะถามเกษตรกรก่อนดีกว่าว่า "ท่านรู้หรือไม่ว่ากุ้งกุลาดำเป็นโรคตัวแดงดวงขาวในช่วงอายุใดมากที่สุด" จากผลการตรวจสอบของคลินิกสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตร วิทยาเขตกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม และการเก็บข้อมูลในพื้นที่บางจังหวัดในภาคใต้ พบว่ากุ้งกุลาดำป่วยเป็นโรคตัวแดงดวงขาวหลังจากปล่อยลงเลี้ยงในช่วงอายุ 20 - 60 วันมากที่สุด ทำไมกุ้งถึงป่วยในช่วงนี้มากที่สุด? มีปัจจัยอะไรหรือไม่ที่เป็นตัวกำหนดเวลานี้? การพิจารณาเพื่อค้นหาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดเหล่านี้เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลาในการศึกษานานพอสมควร แต่ในขณะนี้ผมนึกออกได้อย่างหนึ่งก็คือ ที่ทางการแพทย์เขาเรียกว่า "ระยะฟักตัว หมายถึงช่วงระยะเวลาที่เชื้อติดเข้าสู่ร่างกายจนถึงสัตว์แสดงอาการของโรคออกมา" ได้เคยมีการศึกษาถึงระยะฟักตัวของโรคตัวแดงดวงขาวในลูกกุ้งกุลาดำที่ติดเชื้อมาตั้งแต่ในโรงเพาะฟักว่ามีระยะเวลา 30 - 45 วัน (Withyachumnarnkul, 1999) ช่างเป็นความบังเอิญจริงๆที่ช่วงเวลาดังกล่าวก็อยู่ในช่วงอายุมีพบว่ามีการเกิดโรคตัวแดงดวงขาวในพื้นที่จริงๆ ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าลูกกุ้งที่ติดเชื้อเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรายังไม่สามารถควบคุมโรคตัวแดงดวงขาว
ได้ซักทีใช่หรือไม่ บางคนอาจจะเถียงคอเป็นเอ็นเลยก็ได้ว่าก็ก่อนจะนำลูกกุ้งไปลงเลี้ยงผมก็นำไปเช็คพีซีอาร์แล้วนี้ครับก็ผ่าน อย่างนี้จะหาว่าลูกกุ้งผมมีเชื้อไวรัสอยู่ได้อย่างไร ใจเย็นๆครับลองอ่านต่อไปนะ
          ไม่ว่าวิธีพีซีอาร์จะเป็นเทคนิกที่ดีเลิศขนาดไหนก็ตามแต่ก็ย่อมมีความผิดผลาดเกิดขึ้นได้ครับ ในที่นี้ขอกล่าวถึงความผิดพลาดของเทคนิกพีซีอาร์ที่เข้าเรียกว่าผลลบเทียม หรือพูดง่ายๆ ก็คือการที่ลูกกุ้งติดเชื้อไวรัสแต่ตรวจพีซีอาร์แล้วผ่าน มีหลักฐานที่ผมจะนำมาเสนอ พบว่าการทำพีซีอาร์แบบธรรมดาโดยใช้วิธีการสกัดดีเอ็นเอต้นแบบ (template) แบบไม่ได้ทำให้ไวรัสบริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในการตรวจลูกกุ้งกุลาดำในปัจจุบัน โดยใช่ตัวอย่างลูกกุ้งจำนวน 50 ตัวนั้น สามารถเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจหาไวรัสในลูกกุ้ง (ผลลบเทียม) คือตรวจไม่พบไวรัสในกลุ่มลูกกุ้งที่มี ไวรัสดวงขาวถึง 23 - 43% (Withyachumnarnkul, 1999) และจากการทดลองของตัวเองที่ทำการสุ่มเก็บดีเอ็นเอต้นแบบที่แลปทั่วไปในพื้นที่การเลี้ยงกุ้งได้ทำการตรวจพีซีอาร์และรายงานผลให้กับเกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นำกลับมาทดสอบที่คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตร เพื่อทำการตรวจด้วยระบบพีซีอาร์ที่มีตัวควบคุมภายในซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลการตรวจที่แลปทั่วไปนั้นถูกต้องมากน้อยเพียงไร ได้ผลออกมาดังรูป


รูปที่1 ตัวอย่างที่ 5, 9 และ 21 เป็นตัวอย่างที่พบไวรัสตรงกับที่ทางแลปทั่วไปรายงานให้กับเกษตรกร
(มีแถบที่2)โดยปกติตัวอย่างที่ 1-4, 6-8, 10-20 ซึ่งทางแลปทั่วไปรายงานผลว่าไม่พบเชื้อไวรัสให้
เกษตรกรทราบจะต้องพบแถบที่1 แต่ในการตรวจสอบพบเพียงตัวอย่างที่1 ตัวอย่างเดียวเท่านั้นที่เกิด
แถบที่1 ดังนั้นตัวอย่างที่เหลือทั้งหมดจึงเป็นตัวอย่างที่มีดีเอ็นเอต้นแบบที่ไม่มีคุณภาพและทำให้การ
รายงานผลไม่ถูกต้อง ถ้าเราลองคิดสัดส่วนของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นจะได้ตัวเลขที่สูงมากคือ
76% (16/21) แต่ตัวอย่างที่ดีเอ็นเอต้นแบบไม่มีคุณภาพนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวอย่างที่ลูกกุ้ง
ติดเชื้อไวรัสทั้งหมด แต่ถ้าใครโชคร้ายละ ก็มีสิทธิได้ลูกกุ้งแถมโรคไปเลี้ยงแน่ๆ นี้ก็อาจจะเป็น
สาเหตุหนึ่งที่เราไม่ค่อยจะเห็นบ่อเพาะฟักเทลูกกุ้งทิ้งกันซักเท่าไหร่ เพราะถ้ามีสัดส่วนการผิดพลาด
ในระดับนี้(ผิด3:ถูก1) กุ้งบ่อไหนที่พบว่ามีการติดเชื้อในการตรวจของเกษตรกรรายแรก ถ้ามี
เกษตรกรรายอื่นมาขอตัวอย่างไปตรวจอีกซักรายสองรายมันก็ต้องผ่านเข้าซักวันหละครับ

    เห็นหรือยังครับว่าเรื่องลูกกุ้งเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งเลยที่เดียวที่ทำให้เรายังควบคุมโรคนี้ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้คงเอาไปอ้างอิงที่อื่นๆอีกคงจะไม่ได้เพราะเป็นการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวเท่านั้นพอกล่าวมาถึงตอนนี้รู้สึกว่าผมจะไปกระทบกระทั่งกับผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นจำนวนไม่น้อยเลย คงต้องขออภัยมานะที่นี้เพราะไม่มีความตั้งใจประการใดที่จะให้ท่านใดท่านหนึ่งเสียหายแต่จุดประสงค์ของบทความตรงนี้ก็เพียงเพื่อชี้ความจริงให้เราได้ตระหนักแล้วมาช่วยกันแก้ไขเพราะจะทำกันเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้แล้วครับ คงต้องช่วยกันจริงๆแล้วครับมันวิกฤตจริงๆ อย่างไรก็เป็นคนไทยด้วยกัน   แล้วปัญหานี้จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร
    อย่างที่กล่าวไว้นะครับว่าทำเพียงฝ่ายห้องแลปปฏิบัติการอย่างเดียวคงไม่พอ เกษตรกรบ่อดิน ผู้เพาะเลี้ยงลูกกุ้ง และนักวิชาการจะต้องร่วมมือกัน เคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน
      สำหรับห้องปฏิบัติการ คงต้องพัฒนาวิธีการตรวจพีซีอาร์ให้ดีขึ้นลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น (พูดง่ายนะ แล้วจะทำอย่างไร) สิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือ
- ปรับเปลี่ยนวิธีการสกัดดีเอ็นเอเสียใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพดีเอ็นเอต้นแบบให้เหมาะสมสำหรับการตรวจพีซีอาร์ และใช้สกัดดีเอ็นเอในกุ้งที่มีจำนวนมากขึ้น (ไม่ต่ำกว่า
   150 ตัว/ตัวอย่าง) ได้อย่างได้ผล (ตรงนี้นักวิชาการก็ต้องช่วยกันพัฒนานะครับ)
- ใช้ชุดทดสอบพีซีอาร์ที่มีตัวตรวจสอบภายในชุดทดสอบเพื่อป้องกันผลการตรวจสอบที่ผิดพลาด (ผลลบเทียม)
- อาจปรับเปลี่ยนไปใช้การทดสอบแบบ เนสเตทท์พีซีอาร์ ซึ่งมีความไวมากกว่าพีซีอาร์ปกติ ซึ่งจำเป็นสำหรับการตรวจสอบพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นพาหะที่ใช้การตรวจด้วยพีซีอาร์  ปกติไม่ได้ผล
      สำหรับเกษตรกรบ่อเพาะฟัก อันนี้เป็นจุดสำคัญมากๆเลยครับเพราะเป็นจุดต้นน้ำของการผลิตกุ้ง จะต้องเข้มงวดกับการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่นำมาใช้ในการเพาะฟักอาหารที่มีชีวิตที่จะนำมาให้พ่อแม่พันธุ์กิน เพาะนอร์เพลียสแยกสำหรับพ่อแม่พันธุ์แต่ละคู่ ล้างไข่กุ้งด้วยฟอร์มาลีน 100 พีพีเอ็มทุกครั้ง นำพ่อแม่พันธุ์ไปตรวจสอบไวรัสด้วยวิธีเนสเตทท์พีซีอาร์ ทั้งก่อนและหลังการวางไข่ ทำลายไข่ หรือนอร์เพลียสที่มาจากพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ติดเชื้อ สำหรับโรงชำลูกกุ้ง ถ้าบ่อเพาะฟักนอร์เพลียสทำมาดีแล้วก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก การจัดการก็คงปกติ เพียงแต่ระวังเชื้อโรคติดมากับน้ำ หรือพาหะต่างๆ เช่นอุปกรณ์ในฟาร์ม คน สัตว์ เป็นต้น แต่ถ้าโรงเพาะทำมาไม่ดีนักก็คงต้องตรวจพีซีอาร์ด้วยเหมือนกัน โดยอาจสุ่ม 2-3 ครั้ง ช่วงพี 7-8, พี 13-14
     สำหรับเกษตรกรบ่อดิน คงต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบลูกกุ้งให้มากๆ ใครที่ไม่เคยมองหาลูกกุ้งเองก็คงต้องฝึกที่จะดูเองได้แล้วครับ แต่ถ้าใครโชคดีได้รู้จักกับโรงเพาะที่ดีก็สบายไปครับ แต่ถ้าไม่จะต้องทำอย่างไร

- สุ่มกุ้งจากบ่อๆละ 5 จุดๆละประมาณ 500 ตัว นำมารวมกันแล้วกวนน้ำ เก็บลูกกุ้งตรงกลางไม่ต่ำกว่า 150 ตัว ส่งไปตรวจพีซีอาร์ โดยก่อนจะนำไปส่งที่แลปให้ใส่ถุงที่บรรจุกุ้งไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 18-20 องศาเซลเซียส (ช่องเก็บผักในตู้เย็น) ประมาณ 1-3 ชั่วโมง (Thakur, 2002)
- ต้องใจเย็นๆที่จะรอผลการตรวจพีซีอาร์ซักนิดเพราะการปรับเปลี่ยนวิธีการสกัดดีเอ็นเอรวมทั้งการใช้เนสเตทท์พีซีอาร์เพื่อให้ผลการตรวจที่แน่นอนยิ่งขึ้นนั้นต้องใช้เวลามากกว่าเดิม ความเคยชินที่ส่งตัวอย่างตอนเช้าแล้วได้ผลตอนบ่ายคงต้องเปลี่ยนไปถ้าคุณต้องการผลที่ถูกต้องแม่นยำ หรืออาจจะสุ่มกุ้งมาตรวจแต่เนิ่นๆ ก็จะดี
- เปลี่ยนค่านิยมในการมุ่งเน้นปริมาณ (ส่วนแถม) มาเป็นการเน้นคุณภาพของลูกกุ้ง ไม่ต้องปล่อยเพื่อตายมากนัก
- ยอมรับราคาลูกกุ้งคุณภาพว่าจะต้องมีราคาจะต้องสูงกว่าปกติแน่นอน ก็ต้นทุนในการผลิตสูงกว่านี้ครับขายเท่าเดิมไม่ได้หรอก
- สุดท้ายหลังจากเข้มงวดเรื่องลูกกุ้งแล้ว ก็อย่าเผลอเปิดจุดอ่อนเรื่องการจัดการละครับอย่างไรก็คงต้องเข้มงวดเช่นเดิม แล้วก็เลี้ยงเลี่ยงๆหน้าหนาว หน้ามรสุม กันบางก็ดีครับ
- ยอมรับลูกกุ้งที่ผลิตมาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ความเชื่อในอดีตที่ว่าพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติดีที่สุดคงไม่ถูกต้องในเวลานี้แล้วครับ เพราะพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเราควบคุมโรคได้ดีกว่า และถ้าพิสูจน์แล้วว่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีก็ยิ่งดีใหญ่
     อย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขยับเช่นห้องแลปปฏิบัติการขยับ ก็ต้องส่งผลถึงโรงเพาะฟักแน่นอน อาจจะขายลูกกุ้งได้น้อยลง ถ้าโรงเพาะขยับแต่บ่อดินไม่ยอมรับในราคาลูกกุ้งที่สูงขึ้น แล้วเขาจะมีกำลังใจทำให้กุ้งมีคุณภาพไปขายใครหละครับ ต้องพร้อมใจกันเคลื่อนครับ แล้วจะไม่มีวันที่ใครจะต้องจากไปจากวงการ

 เอกสารอ้างอิง :
    Thakur P.C., Corsin F., Turnbull J.F., Shankar K.M., Hao N.V., Padiyar P.A., adhusudhan M., Morgan K.L. and Mohan C.V. (2002)
Estimation of prevalence of white spot syndrome virus (WSSV) by polymerase chain reaction in Penaeus monodon postlarvae at time of stocking in shrimp farms of Karnataka, India: a population-based study. Dis Aquat Org, 49:235-243
     Withyachumnarnkul Boonsirm. (1999) Results from black tiger shrimp Penaeus monodon culture ponds stocked with postlarvae PCR-positive or -negative for white-spot syndrome virus (WSSV). Dis Aquat Org, 39:21-27

 

 บทความของหมอวิชัย ลาภจตุพร
     ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการขายและการใช้ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จุลินทรีย์ โปรไบโอติกกำลังมาแรง รวมทั้งกระแสการใช้สมุนไพรที่มีการนำกลับมาประยุกต์ใช้ อีกครั้ง ผลการใช้ดีมากน้อยแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ของแต่ละคน คงถึงเวลาที่จะนำเสนอและให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในอดีตที่ผ่านมา มักเสนอบทความที่ทวนกระแสจนหลายคน คิดว่าผมต้องการที่จะขายยาและสารเคมีอยู่เสมอ ผมเพียงแต่ ไม่ต้องการให้เกิดกระแสแห่ไปในทิศทางเดียว เลยต้องนำเสนอ มุมมองและข้อมูลรวมทั้งข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ด้วยความ เคารพต่อความคิดของเกษตรกรและนักวิชาการ ตาม วิจารณญาณของแต่ละท่าน

 จุลินทรีย์และโปรไบโอติก
     ในกลุ่ม แลบ อินเตอร์ เองก็มีผลิตภัณฑ์ทั้งจุลินทรีย์ และโปรไบโอติกขาย สำหรับจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดคุณภาพน้ำ อาจกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทแรกด้วยซ้ำเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว แถมเป็นจุลินทรีย์ในรูปของเหลวเป็นบริษัทแรก และตัวแรก ในเมืองไทย สำหรับจุลินทรีย์ผสมอาหารได้จดทะเบียน และนำมาขายกับกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ปี 2540
ทะเบียนเลขที่ 02 04 40 0308 และทะเบียนเลขที่ 02 04 40 0309 และต่อมาก็ผลิตมาขายในสัตว์น้ำเราสามารถแบ่งจุลินทรีย์ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. จุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดคุณภาพน้ำและพื้นบ่อ ปัจจุบันยัง ไม่ต้องจดทะเบียน แต่ว่าการผลิตและนำเข้าจะต้อง มีใบตรวจรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าจะ ต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นโทษหรือต้องห้ามปนเปื้อนอยู่
2. จุลินทรีย์สำหรับให้สัตว์กินเข้าไปในร่างกาย อาจใช้แบบผสมอาหารหรือวิธีการอื่น ต้องจดทะเบียนกับ กรมปศุสัตว์เป็นประเภทอาหารเสริมชีวนะ
      จุลินทรีย์ทั้งสองกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน อย่างมากถึงแม้บางครั้งจุลินทรีย์จะมีชื่อ (Genus) เหมือนกันแต่จะมีนามสกุล (specie) รวมถึง รายละเอียดที่ย่อยลงไปอีก (strain) แตกต่างกัน ให้ผลในการใช้แตกต่างกัน จุดประสงค์และวิธี การใช้แตกต่างกัน ในสากลจุลินทรีย์ที่ให้สัตว์กิน จะแยกส่วนออกมาและใช้คำว่า Direct Fed Microbial (D.F.M) (ภาษาไทยยังนึกคำไม่ออก ) ส่วนคำว่าโปรไบโอติกโดยทั่วไปถือว่าเป็น สรรพคุณไม่ใช่ตัวสาร ทั้งจุลินทรีย์ที่ใส่น้ำ และกินให้สรรพคุณที่เป็น โปรไบโอติกเอฟเฟค ได้ (Probiotic effect) คือการมีชีวิตและ เพิ่มจำนวน รวมถึงเจริญเติบโตขึ้นมาข่ม จุลินทรีย์ที่เป็นโทษ (Compettitive Exclusion) และสร้างสารที่มีประโยชน์ เช่นสารปฏิชีวนะ เอ็นไซม์ กรดอ่อน (กรดแลคติก) เป็นต้น
       หลายท่านคิดว่าจุลินทรีย์ไม่มีโทษผมขอใช้ คำว่ามีโอกาสเป็นโทษและทำให้เกิดโทษน้อย มากกว่า แต่ถ้าการผลิตและใช้ไม่ดีจะเกิดโทษได้ เช่น ขาดออกซิเจนและสีน้ำล่มยังมีข้อควรระวัง และคำนึงถึงโทษร้ายแรงของจุลินทรีย์อีกประการ ที่มักถูกมองข้าม การผลิตและนำเข้าจุลินทรีย์ ต่างถิ่นจากที่หนึ่งไปใช้ในอีกที่หนึ่งถ้าขาดการ ตรวจสอบระมัดระวังที่ดี ถึงแม้ว่าจุลินทรีย์ตัวนี้ จะเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่ว่าอาจจะ เกิดการเจริญเติบโตรวดเร็วและแพร่กระจาย ได้ดีจนไปข่มจุลินทรีย์ท้องถิ่น แล้วปัญหา ที่ตามมาล่ะครับอะไรจะเกิดขึ้น ผมขอยกตัวอย่าง ง่ายๆ ที่ทุกท่านเคยพบมา เช่นผักตบชวาและ หอยเชอรี่ ครั้งแรกนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเป็นพืชและสัตว์เลี้ยงสวยงามซึ่งทั้งสองชนิด นี้ไม่ได้เป็นพืชและสัตว์ท้องถิ่นของไทย เมื่อหลุด เข้าไปในธรรมชาติของไทยสองสิ่งนี้สามารถ เจริญเติบโตได้ดี รวดเร็วจนไปข่มพืชและสัตว์ ประจำถิ่นของไทยจนเกิดปัญหาตามมามากมาย และถึงแม้ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ในไทยเอง การย้ายจุลินทรีย์ จากถิ่นหนึ่งธรรมชาติหนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่งก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง นี่คงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
      ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ การเลี้ยงกุ้ง แบบชีวภาพ 3 คำนี้น่าจะมีความแตกต่าง ครอบคลุมเรื่องราว ที่แตกต่างกัน น่าจะมีคำจำกัดความจะได้มีขอบเขตที่ตรงกัน ผมเชื่อว่าทุกวันนี้เรากำลังพูดถึง 3 คำนี้ด้วยความคิดและ ขอบเขต ที่เหมือนกับเรากำลังพูดคุยคนละเรื่องเดียวกัน เนื้อหาสาระ ความเข้าใจก็เป็นคนละเรื่องเดียวกัน
      ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ น่าจะหมายถึงผลผลิตที่ได้จาก สิ่งมีชีวิตที่มิได้นำมาเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี อาจจะได้จาก การบด อบ หรือสกัดออกมา หรือที่ได้จากขบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น หมัก ตัดต่อยีน ในส่วนของ แลบ อินเตอร์ มีผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากหลายแต่เพียงมิได้ นำมาโฆษณาและขายตามกระแสเท่านั้น อาทิเช่น น้ำมันปลา
น้ำมันปลาหมึก เทอร์โบ กากชา จุลินทรีย์ เอ็นไซม์ พลาสมาโปรตีน ยีสต์ สไปรูไลน่า โปรตีนสกัดจากถั่ว ดอกดาวเรือง โปรตีนสกัด จากปลาและสมุนไพรในสัตว์บก ฯลฯ ถ้าเพียงเรารู้และเข้าใจ ในตัวสาร เราก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องไม่เป็น สารที่ห้าม ไม่จำเป็นต้องเป็นสารชีวภาพ สารชีวภาพถ้าไม่รู้จัก ไม่เข้าใจก็มีโทษมากมายและนอกจากนี้ยังมีการโฆษณา ชวนเชื่อและนำมาใช้กับตัวสินค้าอย่างเกินความเป็นจริง ผมจะลองยกตัวอย่างให้ดูบางส่วน
        การผลิตยาอ็อกซีเตตร้าซัยคลิน ก็ใช้เทคโนโลยี ชีวภาพ การหมัก และสกัดออกมาผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็เป็นสาร ชีวภาพ เราจึงเรียกว่ายาปฏิชีวนะการผลิตเอ็นไซม์และจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเอ็นไซม์ ก็มีวิธีการและหลักการ เดียวกันกับอ็อกซี่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็เป็นผลิตภัณฑ์ ชีวภาพ เราจึงเรียกตามภาษากรมปศุสัตว์ว่า สารเสริมชีวนะและไคโตซานที่ผลิตและขาย เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ขายในสัตว์น้ำ มีสารสกัด ไคโตซานอยู่ 1-2% และกรด สารเคมี 1-2% เราควรเรียกว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพหรือไม่เทคโนโลยีชีวภาพคำนี้มีความหมาย ที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวาง การพูดว่าเมืองไทย จะเจริญหรือรอดในอนาคตต้องเทคโนโลยีชีวภาพ คงเป็นเรื่องที่ถูกแต่เป็นคำพูดแบบกำปั้นทุบดิน เราคงต้องแยกแยะออกมาเป็นเรื่องๆว่าเป็น เทคโนโลยีชีวภาพ อะไร เรื่องไหน โดยส่วนตัวผมมี ความเชื่อในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพที่ยิ่งใหญ่กว่า ที่ทุกคนคาดตามที่ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผมและผม ก็เชื่อและเห็นด้วยท่านกล่าวว่า "ยุคต่อไป หลังยุคสื่อสารโทรคมนาคมคอมพิวเตอร์จะเป็น ยุครุ่งเรืองของเทคโนโลยีชีวภาพ" เพียงแต่ คุณต้องหาเองว่าเป็นเทคโนโลยีชีวภาพเรื่องไหน ตัวไหน เวลาไหนที่เหมาะกับคุณ จีเอ็มโอ โคลนนิ่ง การตอนกิ่งไม้ การทำปลาร้า น้ำบูดู ล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีชีวภาพ แม้แต่ อเมริกาผมคิดว่าคงกลัวอาวุธชีวภาพมากกว่า อาวุธนิวเคลียร์เสียอีก (อันนี้ก็ใช้เทคโนโลยี ชีวภาพเหมือนกัน )

 การเลี้ยงกุ้งแบบชีวภาพ
        คิดว่าเป็นพัฒนาการที่ดีเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ของการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยส่วนตัวก็สนับสนุน และเห็นด้วย ในช่วงปี 41-42 ก็พยายามสนับสนุน โดยใช้ความคิดของหมอสุรศักดิ์เป็นแนวทาง ในเรื่องสัตว์หน้าดินเป็นตัวนำ รวมทั้งพยายามจะ เขียนและสัมมนาในเรื่องคุณภาพน้ำทางชีวภาพ จึงเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิด คงถึงเวลาที่จะ นำเสนอบางอย่างเพื่อมิให้สิ่งที่ดีและควรพัฒนานี้เสียหรือหยุดไป เพราะการนำมาใช้แบบผิดหรือโฆษณา ชวนเชื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า จนคำว่าชีวภาพสูญเสีย ไปอย่างน่าเสียดาย      ที่ผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ดีในการเลี้ยงกุ้ง ถ้าเราย้อนกลับไปดูในช่วงเวลาต่างๆ จะเข้าใจ

+ ยุคที่ 1 ในช่วงต้นที่ผู้เลี้ยงและวิชาการมุ่งเน้นสนใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับคุณภาพน้ำทางกายภาพ การทำสีน้ำ ความขุ่นใส การเปลี่ยนถ่ายน้ำ ระดับน้ำ
+ ยุคที่ 2 เริ่มเข้าสู่ค่าคุณภาพทางเคมี ออกซิเจน พีเอช อัลคาไลน์ แอมโมเนีย ไนไตรท์ เมื่อตรวจวัดเข้าใจแก้ไขไปแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ก็มุ่งไปสู่เรื่องใหม่เข้าสู่ยุคถัดไป
+ ยุคที่ 3 เราก็เริ่มเข้าสู่ยุคค่าคุณภาพทางชีวภาพ ไม่ว่าจุลินทรีย์ แพลงก์ตอน เชื้อโรค และสัตว์หน้าดิน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องคุณภาพทางชีวภาพ เมื่อถึงวันหนึ่ง ที่เรารู้เราเข้าใจและพอทำได้แล้ว หรือทำได้แต่เลี้ยงกุ้ง ไม่ได้ก็อาจมี กระแสเรื่องใหม่ๆเข้ามา เราก็พัฒนาเข้าสู่เรื่องใหม่
+ ยุคที่ 4 ผมมีคำตอบและคาดเดาอยู่ในใจว่าเป็นอะไร ผมเชื่อว่าหลายคนก็คาดเดาออก และแน่นอนในทุกยุค ทุกสมัยจะมีพัฒนาในหลายๆ เรื่องควบคู่กันไป เพียงแต่เรื่องไหนเป็นเรื่องที่โดดเด่นหรือเป็นกระแสอยู่ ยกตัวอย่างในยุคนี้ ยังมีเรื่องของการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ทดแทนการจับจาก ธรรมชาติที่เป็นกระแสที่โดดเด่น ผมเห็นด้วยเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าเรากำลังกระโดดข้ามบางเรื่องบางยุคที่เป็นพื้นฐาน ที่สำคัญในเรื่องพ่อแม่พันธุ์ที่ง่ายและมีโอกาสสำเร็จในการ ปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนในฉบับต่อไป หวังว่าผมคงไม่หลงยุคหรือโบราณเกินไปนะครับ
        ขอย้อนกลับมาสู่การเลี้ยงแบบพัฒนาคุณภาพน้ำ ทางชีวภาพ กับการที่คิดว่าการใส่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ คือการเลี้ยงกุ้งแบบชีวภาพแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าต้องการค่าคุณภาพทางชีวภาพหรือได้ระบบชีวภาพที่ดีในบ่อ ต้องรู้จัก ปกป้อง รักษา พร้อมทั้งทะนุบำรุงสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อยู่ในน้ำ ในบ่อ ให้อยู่กับเรา ต้องเริ่มจากการหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งเหล่านี้โดย ไม่จำเป็น ได้แก่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีบางชนิด หันไปใช้วิธี ทางกายภาพ เช่น พักน้ำ กรองน้ำร่วมกับยาฆ่าเชื้อที่ไม่ทำลาย หมดบางชนิด การคราดและไถพรวน แล้วเริ่มทะนุบำรุงโดย การปรับสภาพทางเคมี ของน้ำให้เหมาะสม เพื่อสิ่งมีชีวิต ที่ดีและมีประโยชน์เหล่านั้นสามารถเจริญเติบโตอยู่ในบ่อ ของเราโดยการใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ย ปูน และอาหาร จุลินทรีย์ เป็นต้น การพัฒนาระบบชีวภาพต้องเริ่มจากกายภาพ และเคมีแล้วชีวภาพจะตามมาเอง ไม่ใช่สารชีวภาพจุลินทรีย์ แล้วจะเกิดระบบชีวภาพที่ดี ลองเปรียบเทียบการปลูกต้นไม้ ทำสวนต้องเริ่มจากปรับพื้น พรวนดิน ทำร่อง จัดระยะให้มีระบบกายภาพที่ดีแล้วจัดการเรื่องเคมี ของดินเช่น ปุ๋ย ปูน ธาตุอาหาร ให้เหมาะสมแล้วจึง นำต้นไม้หรือชีวภาพมาปลูกจึงได้ดี มิใช่เอาพันธุ์ดี มาปลูกแล้วใส่แต่สารชีวภาพแล้วคิดว่าจะได้ดี ในบ่อ ในสวนอาจจะมีชีวภาพที่ไม่ดีหรือมากเกิน ไปจนเกินสมดุล เช่น น้ำเขียวเข้มสาหร่ายและ แพลงก์ตอนบูมมากเกินไป ไม่ว่าเป็นแพลงก์ตอนดี หรือร้าย ก็คล้ายกับการมีหญ้าขึ้น ใบและก้าน มากเกินไปเราก็ต้องใช้วิธีทางกายภาพเช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือ เหมือนกับการถอนหญ้า ตัดแต่งกิ่งและใบ ในกรณีที่ใช้กายภาพไม่ได้ ก็อาจต้องใช้เคมีเข้าช่วย เช่น สารควบคุมและ กำจัดแพลงก์ตอน ยาฆ่าหญ้า
หรือฮอร์โมน ควบคุมการเจริญเติบโตในพืช เพื่อปรับระบบ ชีวภาพให้กลับสู่สมดุลไม่มากเกินไป จนบ่อรับไม่ไหว จะเห็นว่าสารเคมีถ้ารู้จักใช้จะช่วยสร้างควบคุม และปรับสมดุลทั้งกายภาพเคมีและชีวภาพในบ่อได้ โดยสรุป วิธีทางกายภาพจะประหยัด ปลอดภัย แต่ใช้ แรงงานเยอะ วิธีทางเคมีจะได้ผลแน่นอน รวดเร็วแต่เสี่ยงกว่า วิธีทางชีวภาพจะยาก ซับซ้อนช้าและผลไม่แน่นอน เราต้องใช้ ทั้งสามวิธีการอย่างเหมาะสม
      การใส่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพอย่างขาดความ เข้าใจนอก จากมีผลเสียอาจไปทำลายระบบชีวภาพ ในบ่อได้เช่นกัน ผมขอยกตัวอย่างที่พวกเรา อาจจะมองข้ามไป เช่น ถ้าเราเอาจุลินทรีย์ที่มีแต่ บาซิลลัสใส่ลงไปมาก จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะทำหน้าที่ หลักในการเปลี่ยนขี้กุ้งและเศษอาหารให้เป็น สารละลายออร์แกนิคในน้ำ (บีโอดี,BOD) ถ้าเมื่อไรค่าบีโอดีในบ่อสูงเกินกว่า 20 จะเกิดการ ยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดไนตริฟิเคชั่น (การเปลี่ยน ของเสียแอมโมเนียและไนไตรท์) ทำให้เกิดการ สะสมและคั่งค้างของแอมโมเนียและไนไตรท์ในน้ำ ขาดออกซิเจนในน้ำ และจะเกิดปฏิกิริยา ดีไนตริฟิเคชั่นย้อนกลับได้ง่าย กล่าวคือ การใส่บาซิลลัส (สารชีวภาพ)ที่มากไป จะทำลาย สมดุลของจุลินทรีย์และระบบชีวภาพเป็นต้น

 การสร้างกระแสและโฆษณาว่า เมืองไทยผลิตกุ้งชีวภาพเพื่อส่งออก อาจเป็น ดาบสองคม ต้องหันกลับมาพิจารณาให้ดี
1. เราผลิตกุ้งชีวภาพเพื่อส่งออกได้จริงหรือ ? ในขณะที่เราต้องใช้คลอรีน ไตรคลอฟอน อีดีทีเอ ปุ๋ย ปูน หรือแม้แต่ไวตามิน สารถนอมอาหารสัตว์ สารปรุงแต่งกลิ่น สีและรส ในผลิตภัณฑ์กุ้ง ล้วนแล้วแต่เป็นสารเคมี เรากำลังหลอกทั้งตัวเอง และผู้บริโภคอยู่หรือไม่
2. ผู้บริโภคลูกค้าชาวต่างชาติเข้าใจและรู้จักคำว่า ผลิตภัณฑ์กุ้งชีวภาพหรือไม่และยอมรับหรือเปล่า ผมว่าฝรั่งไม่งงเป็นไก่ตาแตก ไม่ก็หัวเราะจนท้องแข็ง เพราะถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษคงต้องใช้ Bio Shrimp ไม่รู้ว่าลูกค้าฝรั่งเขาจะเข้าใจอย่างไร กับคำคำนี้
3. ถ้าเกิดกระแสของผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์กุ้ง ต้องมาจากการเลี้ยงโดยใช้ผลิตภัณฑ์และวิธีการ ทางชีวภาพคนไทยเองจะลำบากเพราะพื้นที่ เราจำกัดและเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นที่สุด ซึ่งทำให้ โอกาสและความจำเป็นในการใช้ยาและสารเคมีมีมาก ยากต่อการหลีกเลี่ยงแบบไม่ใช้เลย การเลี้ยงกุ้ง แบบชีวภาพและใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ยังพอเป็นไปได้ แต่ต้องเลี้ยงกุ้งบางมากแบบธรรมชาติหรือกึ่ง ธรรมชาติใช้อาหารสดกับกากชาเท่านั้น เหมือนใน ยุคแรก ซึ่งประเทศคู่แข่งเรากลับจะได้เปรียบ และได้ประโยชน์


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=129

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.