Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

ทิศทางการวิจัยโรคกุ้งในศตวรรษใหม่(เสวนา 10)
16/9/2546 14:37:00, by
สถาพร ดิเรกบุษราคม

ทิศทางการวิจัยโรคกุ้งในศตวรรษใหม่

สถาพร ดิเรกบุษราคม
สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80160

     กุ้งกุลาดำนับเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละไม่น้อยกว่าหกหมื่นล้านบาท (สิริ, 2542) และเนื่องจากการเลี้ยงกุ้งนับเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงจึงยังคงทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพของการผลิตต่อหน่วยพื้นที่กลับลดลงเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีผลผลิตประมาณ 1.5-2.5 ตัน/ไร่ เหลือเพียง 700-1,000 กก./ไร่ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการลดลงอย่างมากของผลผลิตนี้ก็คือโรค โดยปรากฏการณ์นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2534 ที่เริ่มพบ Yellow head virus ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวเหลือง (Boonyaratpalin et al. 1993) และการตรวจพบ White spot syndrome virus ที่เป็นสาเหตุของโรคตัวแดงดวงขาวในปี 2538 (Kasornchandra et al. 1995) ซึ่งเมื่อศึกษาย้อนกลับไปภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี จะพบว่ายิ่งเราตรวจพบสาเหตุของการเกิดโรคมากขึ้นเท่าไร ประสิทธิภาพของการผลิตกลับลดต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนของสารเคมีและยาที่ใช้ในการป้องกันโรค รวมไปถึงสภาวะความเสี่ยงในการลงทุนก็มีมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะเราไปให้ความสำคัญกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในกุ้งมากเกินไป จนลืมนึกถึงหลักเบื้องต้นของการเกิดโรคตามรายงานของ Sneiszko (1974) ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ
1. สัตว์น้ำหรือกุ้ง
2. สิ่งแวดล้อม
3. เชื้อโรค
      กล่าวคือการที่กุ้งจะเกิดโรคได้นั้นต้องเริ่มจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้กุ้งอ่อนแอจนเชื้อโรคสามารถเข้าทำอันตรายให้แก่สัตว์น้ำนั้นได้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการศึกษาที่พบว่า แท้จริงแล้วระบบภูมิคุ้มกันกุ้งนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะกุ้งเป็นสัตว์หน้าดิน มีนิสัยการกินสิ่งมีชีวิตและซากต่าง ๆ ที่บริเวณหน้าดินที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์นานาชนิด ดังนั้นในธรรมชาติน้ำเลือดกุ้งจึงมีสารยับยั้งแบคทีเรีย และเม็ดเลือดซึ่งคอยทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ตัวกุ้ง อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งกุลาดำจะลดลงเมื่อกุ้งต้องอยู่ในสภาวะเครียด หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อาทิเช่นการศึกษาของ Flegel และคณะ (1995) และ Direkbusarakom และคณะ (1997) ได้รายงานสอดคล้องกันว่าประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในกุ้งกุลาดำลดลงมาก เมื่อกุ้งอยู่ในสภาวะที่มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำต่ำ เป็นสาเหตุโน้มนำให้กุ้งมีการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายและตายในที่สุด โดยพบว่ากุ้งที่ทดลองให้มีการติดเชื้อเรืองแสงในชุดที่อยู่ในสภาวะที่มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำต่ำมีอัตราการตายมากกว่าชุดควบคุมที่เลี้ยงในสภาพที่มีออกซิเจนเพียงพอถึง 3 เท่า
     ทิศทางการวิจัยโรคกุ้งในศตวรรษหน้าที่ประเทศไทยยังเป็นหนี้ต่างชาติอย่างมากมายเช่นนี้ จึงควรที่จะมุ่งเน้นศึกษาและหาแนวทางในการป้องกันโรค โดยดูจากองค์ประกอบโดยรวม ไม่ใช่การมองหาเพียงเชื้อโรคที่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งแล้วแก้โดยการใช้ยาและสารเคมี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและหลาย ๆ ครั้งก็ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย ดังนั้นงานวิจัยที่ควรสนับสนุนให้เร่งทำการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้แก่
1. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการเกิดโรค
2. บทบาทและหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์วิทยาของบ่อกุ้ง อาทิเช่น
- การศึกษาการใช้ไส้เดือนทะเลในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในบ่อกุ้ง
- บทบาทของแพลงก์ตอนพืชในการยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในกุ้ง
     เพื่อที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคกุ้งที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการปรับยุทธวิธีในการเลี้ยงกุ้งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตกุ้งของไทย อันจะเป็นเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและสอดคล้องกับการค้าเสรีของโลกในอนาคตอีกด้วย
      อย่างไรก็ตามการวิจัยในลักษณะนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจของนักวิจัยในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งนักวิจัยด้านโรค สิ่งแวดล้อม อาหาร การเลี้ยง รวมถึงนักนิเวศน์วิทยา คงไม่สายเกินไปหากนักวิจัยไทยจะหันหน้าเข้าหากันและช่วยกันวิจัยร่วมกัน อันจะเป็นแนวทางที่เราจะพัฒนาการเลี้ยงกุ้งไทยให้เป็นอาชีพที่ยั้งยืนของเกษตรกรสืบต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

สิริ ทุกข์วินาศ. 2542. นโยบายของรัฐเกี่ยวกับ Code of Conduct เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล. การประชุมวิชาการกุ้งทะเลแห่งชาติครั้งที่ 1. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ. หน้า 13-19.
Boonyaratpalin, S., K. Supamattaya, J. Kasronchandra, S. Direkbusarakom, U. Aekpanithanpong and C. Chantanachooklin. 1993. Non-occluded. Baculo-like Virus, the causative agent of yellow-head disease in the black tiger shrimp (Penaeus monodon). Fish pathology 28 (3) : 103-109.
Direkbusarakom S., and Y. Danayadol. 1998. Effect of oxygen depletion on some parameters of immune system in black tiger shrimp (Penaeus monodon). In Fleagel T. W. (Ed.), Advances in Shrimp Biotechnology, Fifth Asian Fisheries Forum, National center for genetic engineering and biotechnology, Bangkok.
Flegel TW, D. F. Fegan., and S. Sriratana. 1995. Environmental control of infectious shrimp diseases in Thailand. In : Shariff M., Arthus JR. and Subasinghe RP. (eds.). Diseases in Asian Aquaculture II, Fish Health Section, Asian Fisheries Society, Manila p. 65-79.
Kasornchandar J., S. Boonyaratpalin, R. Khongpradit and U. Aekpanithanpong. 1995. Mass mortality caused by systemic bacilliform virus in cultured penaeid shrimp, Penaeus monodon, in Thailand. Asian Shrimp News 5 : 2-3.
Sneiszko S. F. 1974. The effect of environmental stress on outbreaks of infectious diseases of fishes. J. Fish. Biol. 6 : 197-208.


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=141

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.