Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 


ผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม

16/9/2546 14:56:49, by รศ. ดร. กังวาลย์ จันทรโชติ

 

ผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม

รศ. ดร. กังวาลย์ จันทรโชติ

      การเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยได้มีการดำเนินการมากว่าสามทศวรรษ โดยเริ่มจากการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งแชบ๊วย การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยได้มีการเลี้ยงกันอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา โดยการเรียนรู้เทคโนโลยีในการเลี้ยงจากประเทศไต้หวัน การเลี้ยงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันได้มีการเลี้ยงในทุกจังหวัดที่ติดกับทะเล รวมทั้งในบางจังหวัดที่ไม่ได้ติดกับทะเล พื้นที่เลี้ยงทั้งหมดได้มีการประมาณไว้ว่ามีถึง 440,000 ไร่ และมีผลผลิตประมาณปีละ 234,000 ตัน ซึ่งผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ สามารถนำเงินตราต่างประเทศได้ประมาณ 47,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นแล้วยังทำให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นมีการเติบโตสร้างรายได้ที่ดีให้แก่คนในท้องถิ่น อีกทั้งยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย อาทิเช่น การผลิตอาหารกุ้ง อุตสาหกรรมห้องเย็น การผลิตกุ้งแช่แข็ง และโรงงานผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ   ที่ใช้สำหรับการเลี้ยงกุ้ง
      อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเลี้ยงกุ้งทะเลจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศในหลายแง่มุมดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในอีกแง่มุมหนึ่ง การเลี้ยงกุ้งทะเลก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการกล่าวถึงกันไม่มากนัก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้ก่อให้เกิดมีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ปล่อยน้ำเสียและฉีดเลนจากบ่อเลี้ยงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอันมีผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรประมงชายฝั่ง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือนร้อนเนื่องจากจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และแหล่งน้ำธรรมชาติเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น จึงจะขอนำเสนอผลกระทบในด้านลบของการเลี้ยงกุ้งทะเลโดยสังเขป ดังนี้

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
     การเลี้ยงกุ้งทะเล เป็นการนำทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศมาทำการผลิตกุ้ง ผลผลิตที่ได้จะนำมาบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก ปัจจัยการผลิตโดยตรงและโดยอ้อมที่นำมาใช้สำหรับการเลี้ยงกุ้งทะเล ประกอบด้วย ปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ปัจจัยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิเช่น ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าชายเลน และทรัพยากรประมง ซึ่งในการเลี้ยงกุ้งนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externality) ขึ้น ซึ่งผลกระทบนี้เกือบทั้งหมดเป็นผลกระทบในทางลบ ก่อให้เกิดต้นทุนภายนอก (External Cost) ขึ้น แต่ต้นทุนเหล่านี้ สังคมโดยส่วนรวมเป็นผู้รับ ผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจะจ่ายเฉพาะต้นทุนในการเลี้ยงของจน (Private Cost) เท่านั้น โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงต่อการรับผิดชอบต่อต้นทุนภายนอกที่เกิดขึ้น ข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้ก็คือ หากผู้เลี้ยงต้องรับผิดชอบในต้นทุนภายนอกแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก แต่ในปัจจุบัน ประเทศที่นำเข้ากุ้งทะเลได้ออกกฎระเบียบบังคับให้ผู้ผลิตกุ้งต้องรับภาระของต้นทุนภายนอกทั้งหมด จึงจะยินยอมให้ส่งกุ้งเข้าประเทศของตนได้

ผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อสิ่งแวดล้อม มีดังนี้
1. ผลกระทบต่อทรัพยากรดิน ได้แก่ การเกิดตะกอนดินเลนก้นบ่อ (Sludge) การแพร่กระจายของดินเค็ม (Saline Soil) และการเกิดค่าเสียโอกาสที่ดินทิ้งร้างจากการเลี้ยงกุ้ง
2. ผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ
3. ผลกระทบต่อทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งผลกระทบโดยตรงคือการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกแผ้วถางเพื่อนำมาใช้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้สูญเสียผลประโยชน์จากป่าในรูปของผลผลิตไม้และผลผลิตที่ไม่ใช่ไม้ ผลกระทบในทางอ้อมคือทำให้ระบบนิเวศของป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทั้งมวลได้สูญหายไป
4. ผลกระทบต่อทรัพยากรประมง ได้มีการศึกษายืนยันว่า การที่ป่าชายเลนถูกทำลายลงจะเป็นการทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งที่พักตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด และแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ของเสียที่ปล่อยออกมาจากบ่อเลี้ยงกุ้ง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความชุกชุมของสัตว์น้ำชายฝั่ง
     จากการศึกษาของภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร พบว่า โดยค่าเฉลี่ยแล้ว การทำนากุ้งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่ 1 ไร่ ในระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นมูลค่า 35,215 บาท และเมื่อคิดต้นทุนเพิ่มหน่วยสุดท้ายด้านสิ่งแวดล้อม (Marginal Environmental Cost) มีค่า 50 บาทในจังหวัดจันทบุรี และ 43 บาทในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งหากผู้เลี้ยงต้องรับภาระต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งทะเลทั้งหมด ซึ่งรวมถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย ต้นทุนทางสังคมที่แท้จริงของการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อกิโลกรัมจะอยู่ที่ 275 บาท (จังหวัดจันทบุรี) และ 261 บาท (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
     เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งทะเลคงอยู่ต่อไปโดยไม่เบียดบังสังคมโดยส่วนรวม ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยอมรับค่าใช้จ่ายในทุกด้านที่เกิดขึ้น ซึ่งหากคิดต้นทุนทุกอย่างแล้ว จะมีผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นที่ยังสามารถอยู่ในธุรกิจนี้ได้ต่อไป ประเทศไทยจะต้องยุติการแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการให้สังคมโดยส่วนรวมแบกรับภาระต้นทุนภายนอกที่เกิดขึ้นด้วย

ผลกระทบด้านสังคม
     ผลกระทบของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำทางด้านสังคม มีผู้กล่าวถึงค่อนข้างน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และขาดข้อมูลที่จะนำมายืนยันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นผลกระทบที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Impacts) เป็นส่วนใหญ่ และยากที่จะสามารถวัดเป็นตัวเงินได้ ผลกระทบทางด้านสังคมอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับคือ
1. ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ การเลี้ยงกุ้งทะเลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ขาดแหล่งน้ำอุปโภค มีสัตว์ที่รบกวนและสร้างความรำคาญมากขึ้น และในบางกรณีได้ก่อให้เกิดโรคระบาดขึ้น
2. ผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ก่อให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมทางสังคม จิตใจ โครงสร้างครอบครัว รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี ความเชื่อ และความเข้มแข็งของชุมชน ในหลายกรณีได้เกิดการขัดแย้งในชุมชน เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน ผลกระทบต่อครอบครัวจะเห็นได้ค่อนข้างชัด ครอบครัวได้เกิดการแตกแยกไม่ว่าจะเลี้ยงกุ้งได้ผลกำไรดีหรือขาดทุน ที่ร้ายที่สุดก็คือ มีบางครอบครัวได้ฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว เนื่องจากทำการเลี้ยงกุ้งแล้วมีหนี้สินล้นพ้นตัว การสังหารกันเนื่องจากผลประโยชน์ที่ขัดกันก็มีเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
     กล่าวโดยสรุปแล้ว การเลี้ยงกุ้งทะเลได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่ก็มีผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการที่จะได้อะไรมาบางอย่าง ก็ต้องมีการสูญเสียอะไรบางอย่างเช่นกัน ดังนั้น ในการพัฒนาสิ่งใด ๆ จะต้องพิจารณาทั้งด้านบวกและลบให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกประเด็น เพื่อให้การตัดสินใจนั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด กิจกรรมใดที่สร้างแต่ผลประโยชน์ของบุคคลแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคม กิจกรรมนั้นควรระงับไปโดยเร็ว สังคมจึงจะอยู่กันอย่างสงบสุขได้


จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=142

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.