Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

ความหลากหลายของชนิดกุ้งสกุล Penaeus ที่พบในบริเวณอ่าวไทยตอนบน
16/9/2546 15:03:17, by
แขวลี วิบูลย์กิจ, สิทธิโชค จันทร์ย่อง

ความหลากหลายของชนิดกุ้งสกุล Penaeus ที่พบในบริเวณอ่าวไทยตอนบน

แขวลี วิบูลย์กิจ, สิทธิโชค จันทร์ย่อง

     ความหลากหลายทางชีวภาพ มีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพราะโดยธรรมชาติแล้วสิ่งมีชีวิตนานาชนิด เป็นแหล่งที่จำเป็น สำหรับปัจจัยสี่ที่ช่วยค้ำจุนให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2539) ได้ให้ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพไว้ว่า "ความหลายหลายทางชีวภาพ (Biodiversity หรือ Diversity) คือ การที่สิ่งมีชีวิตนานาชนิดหลากหลายพันธุ์ (species diversity) ความหลากหลายภายในชนิดพันธุ์ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecological diversity) กุ้งทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความลึกระดับต่าง ๆ บริเวณพื้นทะเลที่เป็นโคลนหรือเป็นทราย เป็นต้น และในแต่ละระบบนิเวศน์ยังมีความแตกต่างของกุ้งแต่ละชนิด (สปีชีส์, species) บริเวณอ่าวไทยตอนบนถือเป็นระบบนิเวศน์น้ำกร่อย ที่ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำหลายสาย ได้แก่ แม่กลอง เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ที่พัดพาเอาธาตุอาหารจากแผ่นดินทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งอาศัยและเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์ทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้งที่อยู่ในสกุล (Genus) Penaeus ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญสามารถทำรายได้ให้กับประเทศมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท
      กุ้งสกุล Penaeus เป็นกลุ่มของกุ้งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยและต่างประเทศมาตั้งแต่อดีตส่วนมากจับจากธรรมชาติ มีขนาดแตกต่างกัน บางชนิดใช้บริโภคสด บางชนิดที่มีขนาดเล็กมักพบรวมกับปลาเป็ดนำไปแปรรูปเป็นกุ้งแห้ง กะปิ และอาหารสัตว์ จึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจเนื่องจากมีจำนวนชนิดที่แตกต่างกันมาก ในปัจจุบันปริมาณกุ้งทะเลที่จับจากธรรมชาติลดลงอย่างมาก จากสถิติปริมาณการจับกุ้งทะเลจากแหล่งน้ำธรรมชาติตั้งแต่ปี 2525-2537 พบว่าในปี 2525 มีปริมาณสูงถึง 178,500 ตัน และต่ำสุดในปี 2533 มีปริมาณเพียง 107,400 ตัน แต่พบว่าในปี 2537 มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 123,100 ตัน (กองเศรษฐกิจการประมง, 2537) ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับอ่าวไทยตอนบนซึ่งเคยเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงแต่เนื่องจากการทำการประมงเกินศักยภาพการผลิตและเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากของเสียต่าง ๆ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สูญพันธุ์ของกุ้งบางชนิดได้ในอนาคต ในการศึกษาเพื่อจะให้ทราบถึงจำนวนชนิดของกุ้งคือการศึกษาทางด้านอนุกรมวิธาน สำหรับการศึกษาด้านนี้ในประเทศไทยมีน้อยมาก คู่มือที่ใช้ในการจำแนกชนิดของกุ้งที่มีอยู่เป็นคู่มือที่ใช้มานาน และเป็นการจำแนกชนิดที่อาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยาเท่านั้นลักษณะบางอย่างไม่สามารถระบุชนิดของกุ้งได้อย่างชัดเจน การศึกษาทางด้านพันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษารูปแบบของ DNA จึงน่าจะสามารถนำมาใช้เทียบเคียงกับลักษณะทางสัณฐานวิทยา เพื่อการจัดทำคู่มือการจำแนกชนิดของกุ้ง ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ และการพัฒนาการประมงได้ต่อไป แต่การศึกษาทางด้านอนุกรมวิธานของกุ้งยังมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะกุ้งทะเลในสกุล Penaeus เป็นกุ้งที่มีขนาดใหญ่ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากยังไม่เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของกุ้งสกุลนี้อย่างละเอียดมาก่อน จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการย้อนบรรยายลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะการวัดนับ และลักษณะรูปแบบของ DNA เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและจัดทำคู่มือวิเคราะห์ชนิดของกุ้งในสกุลนี้ใหม่

Farfante และ Kensley (1997) ได้จัดลำดับทางอนุกรมวิธานของกุ้งสกุล Penaeus ไว้ดังนี้
Phylum Arthropoda
Superclass Crustacea Pennant, 1777
Class Malacostraca Latreille, 1806
Order Decapoda Latreille, 1803
Suborder Dendrobranchiae Bate, 1888
Superfamily Penaeoidea Rafinesque-Schmaltz, 1815
Family Penaeidae Rafinesque, 1815
Genus Penaeus Fabricius, 1798

      กุ้งสกุล Penaeus ในประเทศไทยพบ 4 สกุลย่อยได้แก่ สกุลย่อย Melicertus พบ 3 ชนิด คือ P. canaliculatus, P. latisulcatus, P. longistylus ; สกุลย่อย Marsupenaeus พบ 1 ชนิด คือ P. japonicus ; สกุลย่อย Fenneropenaeus พบ 4 ชนิด คือ P. indicus, P. merguiensis, P. penicillatus, P. silasi ; และสกุลย่อย Penaeus พบ 2 ชนิด คือ P. monodon, P. semisulcatus. (Chaitiamvong และ Supongpan, 1992 ; Lumubol, 1974) ซึ่งก่อนหน้านี้ นงนุช (2532) รายงานไว้ 8 ชนิด ในจำนวนนี้มี 8 ชนิดที่พบบริเวณอ่าวไทยตอนบน สำหรับ 2 ชนิด ที่ไม่พบบริเวณนี้คือ P. canaliculatus และ P. penicillatus ชนิดหลังนี้สาเหตุที่ไม่พบเนื่องจาก มีถิ่นกำเนิดนอกน่านน้ำของประเทศไทย แต่ชาวประมงไปรับซื้อมา จากรายงานของ Lumubol (1974) ก็ไม่พบ P. longistylus ในบริเวณนี้เนื่องจากอาศัยในบริเวณน้ำลึกเท่านั้น (Chaitiamvong, 1980) ในบรรดากุ้งทั้ง 9 ชนิดนี้พบว่า เป็นกลุ่มของกุ้งแชบ๊วย ซึ่งอยู่ในสกุลย่อย Fenneropenaeus จำนวน 3 ชนิด คือ P. (F.) merguiensis, P. (F.) silasi P. และ (F.) penicillatus โดย 2 ชนิดแรกพบได้ทั่ว ๆ ไปในนากุ้งและในทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ชนิดหลังพบเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน และยังพบว่า P. (F.) silasi มีลักษณะคล้ายกับ P. indicus มาก สามารถแยกชนิดโดย P. indicus จะมีกลุ่มขนที่ maxilliped คู่ที่ 3 และขอบตรงกลางของอวัยวะเพศเมีย (lip of seminal receptacle) มีลักษณะย่นเป็นริ้ว ส่วน P. (F.) silasi จะไม่มีกลุ่มขนที่ maxilliped คู่ที่ 3 ขอบตรงกลางของอวัยวะเพศเมียเรียบไม่มีรอยย่น (สมนึก, 2533) กุ้งในสกุล Penaeus สามารถจำแนกชนิดได้โดยใช้ลักษณะของร่องและสันที่ปรากฏบนคาราเปส การมีหรือไม่มีแขนงอันนอก (exopodite) ตำแหน่งของเหงือก และมาสติโกแบรงเคีย (mastigobranchiae, epipodite) ที่ปรากฏบริเวณขาเดินแต่ละคู่ ลักษณะของแขนงอันใน (endopodite) ของแมกซิลู (maxillue) รวมทั้งลักษณะของหาง (Alcock, 1905) สำหรับกุ้งในสกุลย่อย Fenneropenaeus ทั้ง 3 ชนิด คือ P. merguiensis, P. indicus และ P. penicillatus สามารถแยกออกจากกันได้โดยใช้ ลักษณะรูปร่างของกรีในกุ้งที่โต เต็มวัย ความยาวของร่องข้างกรี ความยาวของแกสโตรออบิทอลคาไรนา (gastro-orbital carina) รวมทั้งลักษณะของโปรโปดัส (propodus) และอัตราส่วนความยาวของแดกทิลัส (dactylus) ต่อโปรโปดัส ของกุ้งในแต่ละชนิด (Chong และ Sasekumer, 1982) ส่วน Miquel (1983a) พบว่า สามารถแยกกุ้งในสกุลย่อยนี้ จำนวน 5 ชนิด คือ P. chinesis, P. indicus, P. merguiensis, P. pencillatus และ P. silasi ออกจากกันได้โดยใช้จำนวนปล้องของ maxillular palp, ความยาวของขาเดินคู่ที่ 3 ความยาวของสันหลังกรี (post rostral carina) ลักษณะของกรี ความยาวของ gastro-orbital carina และลักษณะของพีแทสมาในกุ้งเพศผู้ ส่วนลักษณะของลวดลาย ไม่สามารถนำมาใช้ในการจำแนกกุ้งในสกุลย่อยนี้ได้ แตกต่างจากกุ้งในสกุลย่อย Melicertus คือ P. penicillatus และสกุลย่อย Marsupenaeus คือ P. japonicus ซึ่งสามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจนโดยใช้ลักษณะของลวดลายสีที่ปรากฏบนเปลือกคลุมหัว และปล้องท้องปล้องสุดท้ายของกุ้งทั้ง 2 ชนิดในขณะที่กุ้งยังอยู่ในสภาพสด (Miquel, 1983b)
      การศึกษาความหลากหลายของชนิดกุ้งสกุล Penaeus จากท่าเทียบเรือ ท่าขึ้นปลา และตลาดสด ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน 11 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จากตัวอย่างกุ้งจำนวน 456 ตัวอย่าง นำมาศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา โดยใช้คู่มือของ Kubo, 1949 : Dall, 1957 และ Grey และคณะ, 1983 ศึกษาลักษณะที่ใช้ในการวัดความยาว (มม.) (Morphometric Measurment) และนับจำนวนหนาม (อัน) (Meristic character) ตาม Chuensri, 1967 : Fermer, 1986 และ Chong และ Susekumar, 1982 สกัดเนื้อเยื่อเพื่อหา DNA และวิเคราะห์รูปแบบของ DNA ตาม Klinbunga และคณะ, 1993 และ Vuthisuthimethavi, 1999 นำข้อมูลมาเทียบเคียงเพื่อจัดทำคู่มือวิเคราะห์ชนิดใหม่ การศึกษาในเบื้องต้นสามารถย้อนบรรยายลักษณะทางสัณฐานเทียบเคียงเพื่อจัดทำคู่มือวิเคราะห์ชนิดใหม่ การศึกษาในเบื้องต้นสามารถย้อนบรรยายลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะการวัดนับ พบว่ากุ้งสกุล Penaeus สามารถจำแนกได้ 8 ชนิด คือ P. monodon, P. semisulcatus, P. indicus, P. merguiensis, P. japonicus, P. canaliculatus, P. longistylus และ P. latisulcatus การจำแนกโดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาได้แสดงไว้ในไดอะแกรม (A) ส่วนการศึกษาลักษณะการวัดนับได้แสดงไว้ในไดอะแกรม (B) ในส่วนของลักษณะการวัดนับข้อมูลที่ได้แสดงไว้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุง รวมถึงการใช้วิธีการทางสถิติเข้ามาช่วยเพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงผลที่ได้จากการศึกษารูปแบบของ DNA เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์จึงขอแสดงผลเฉพาะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะการวัดนับเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

นงนุช ลีลาปิยะนาถ. 2532. อนุกรมวิธานของกุ้งพีนีออยในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, กรุงเทพฯ.
ประจวบ หลำอุบล. 2527. เอกสารคำสอนวิชากุ้ง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 237 น.
สมนึก ไช้เทียมวงศ์. 2533. ชนิดของกุ้งทะเลกลุ่มพีนิดจากแหล่งหญ้าทะเลฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย. น. 117 - 122. ใน รายงานการสัมมนาวิชาการประจำปี 2533. สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ. กรมประมง, กรุงเทพฯ.
สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม. 2539. ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย. การประสานการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ. 39 น.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2538. สำมะโนประมงทะเล พ.ศ. 2538 เขตประมง 1 (เขตตะวันออกของอ่าวไทย ตราด จันทบุรี ระยอง). สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ. 213 น.
Alcock, A. 1905. A Revision of the "Genus" Penaeus with Diagnosed of Some New Species and Varieties. An. Mag. Nat. Hist. Ser. 7 (16) : 508-532.
Chaitiamvong, S. 1980. The Biology of the Penaeid Shrimp of Thailand. Report of the Workshops on the Biology and Resources of Penaeid Shrimp in the South China Sea Area Part I (Simpson, A.C.). South China Sea Fisheries Programe, Manila. 29 p.
Chaitiamvong, S. and M. Supongpan. 1992. A Guide to Penaeoid Shrimps Found in Thai Waters. Australian Institute of Marine Science Townsville, Australia. 77 p.
Chong, V.C. and A. Sasekumer. 1982. On the Identification of three Morphospecies of Prawns. Penaeus merguensis De Man, Penaeus indicus H. Milne Edward and Penaeus penicillatus Alcok (Decapoda, Penaeidea) Crustaceana 42 (2) : 127-141.
Chuensri, C. 1967. A Morphometric and Metric Study of Postlarval Pink Shrimp, Penaeus duoraum Burkenroad, White Shrimp, P. setiferus (Linnaeus), and Brown Shrimp, P. aztecus Ives. University of Miami, Florida. 131 p.
Dall, W. 1957. A Revision of the Australian Species of Penaeinae (Crustacea Decapoda : Penaeidae). Aust. J. Mar. Freshw. Res. 8 (2) : 186-231.
Farmer, A. D. H. 1986. Morphometric Relationship of Commercial Important Species of Penaeid Shrimp From the Arabian Gulf. Kuwait Bull. Mar. Sci. 7 : 1-21.


  

โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=144

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.