Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

สถานการณ์ตลาดกุ้งโลก
21/10/2546 9:49:32, by
วารสารข่าวกุ้ง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์
สถานการณ์ตลาดกุ้งโลก


     เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วกุ้งกุลาดำไทยประสบปัญหาสารตกค้าง ทำให้เกษตรกรชะงักการลงลูกกุ้ง ห้องเย็นขายกุ้งไม่ได้ เก็บสต๊อกไว้เป็นจำนวนมาก คนหันมาเลี้ยงกุ้งขาวเพิ่มมากขึ้น จากสัดส่วนกุ้งกุลาดำกับกุ้งขาวประมาณ 80:20 ในปีที่แล้ว กลายเป็น 50 :50 ในปีนี้ และดูเหมือนว่าสัดส่วนกุ้งขาวจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปีนี้ยังเกิดภาวะราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี ในภาพรวมราคาสำหรับกุ้งสดแช่แข็งตกลงประมาณ 10%-15% และมีแนวโน้วจะลดลงไปอีกในเดือนตุลาคมตามผลผลิตของกุ้งจีนและของไทยที่จะออกมามากขึ้นตามฤดูกาล

     ตลาดสหรัฐอเมริกา การบริโภคกุ้งเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากราคากุ้งลดลง ประกอบกับหมวดเนื้อราคาสูงขึ้น 100% เช่น เนื้อวัว ขึ้นไปถึงปอนด์ละ 6-7 เหรียญสหรัฐฯ จากปีที่แล้วราคาปอนด์ละ 3-4 เหรียญสหรัฐฯ ตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจากทุกประเทศทั้งอินเดีย เวียดนาม จีน เอกวาดอร์ บลาซิล รวมถึงไทย สำหรับไทยตัวเลขนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นของกุ้งแปรรูป ส่วนกุ้งสดลดลง
     ตลาดญี่ปุ่น ปีนี้ตัวเลขของไทยที่ส่งเข้าไปลดลง ตกไปอยู่อันดับ 5 โดยมีกุ้งจีนเข้ามาแทนในอันดับ 4 แต่ไทยยังมีความหวังอยู่ เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความปลอดภัยกับความสำคัญของอาหาร (Food safety) และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เชื่อว่าถ้าเราพยายามควบคุมการใช้สารตกค้างพร้อมกับสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มั่นใจว่าตลาดญี่ปุ่นของไทยจะกลับมาอีกมาก
     "มีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สาขาผมที่ญี่ปุ่นแจ้งมาว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สาขาหนึ่งตรวจเจอสารตกค้างในกุ้งขาวจากจีนที่ขายอยู่ในชั้นวาง เค้าสั่งดึงลงมาจากชั้นทั้งหมด ก็ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตอื่นรีบตรวจของที่มาจากจีนของตัวเอง และมีแนวโน้มว่าจะดึงของออกจากชั้นเยอะมาก อันนี้เป็นข่าวดีสำหรับพวกเรา แต่ว่าจุดที่น่ากลัวคือเค้าใช้กับประเทศอื่นได้เราเองก็มีสิทธิโดน ถ้าเค้าตรวจเจอสารในกุ้งบ้านเรา เราก็ลงจากชั้นวางได้เหมือนกัน"
     "การเลี้ยงกุ้งใหญ่คือคำตอบสำคัญ ปัจจุบันเค้าซื้อกุ้งใหญ่ จากอินเดีย และเวียดนามเป็นหลัก แต่อินเดียมีปัญหาเรื่องกลิ่นโคลนมาก เวียดนามก็มีปัญหาเยอะตรวจสอบย้อนกลับได้แต่เป็นของปลอม กลิ่นโคลนก็เยอะ ถ้าเราสามารถทำให้เค้าเห็นว่าเราตรวจสอบย้อนกลับได้ของจริง แล้วคุณภาพเราดีไม่สารตกค้าง ผมคิดว่าตลาดญี่ปุ่นกุ้งใหญ่เป็นอะไรที่สบายมาก"

     ตลาดยุโรป ตัวเลขเลวร้ายกว่าที่ผ่านมามาก เนื่องจากปัญหาจีเอฟพีดังที่กล่าวอยู่แล้ว ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ การตรวจสารตกค้าง ซึ่งถึงแม้อียูจะไม่ตรวจ 100 % อยู่ และมาตรฐานการตรวจในแต่ละท่าเรือของอียูยังไม่แน่นอน ทั้งมาตรฐานเครื่องมือก็ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันมีการตรวจสารตกค้างในส่วนประกอบที่นำไปประกอบในการทำกุ้ง เช่น แป้ง ด้วย ทำให้เกิดความลังเลทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก และในกรณีที่เกิดปัญหาอียูจะเผาสินค้าโดยไม่ส่งกลับ ตัวเลขส่งออกปีที่แล้วเหลือแค่ 6,000ตัน ปีนี้ครึ่งปีแรกเหลือประมาณ 2 พันตัน

     ตลาดจีน จากเดิมที่เป็นคู่ค้า ตอนนี้เป็นคู่แข่งเต็มตัวในแง่ที่เป็นคู่ค้า จีนมีการตั้งมาตรฐานการตรวจสอบสินค้านำเข้าเทียบเท่ากับอียู ในแง่ของการเป็นคู่แข่ง กุ้งจีนได้พัฒนาการเลี้ยงและการพัฒนาห้องเย็นเร็วมาก ปีที่แล้วเทียบกับปีนี้เพิ่มขึ้นมาเกือบร้อยโรงงานตลอดแนวชายฝั่งจาก เซี่ยงไฮ้ (เกือบถึงตอนเหนือ) ลงมาตลอดทางถึงใต้ และโรงงานส่วนใหญ่พยายามปรับมาตรฐานตัวเองให้ได้มาตรฐานอียู เนื่องจากโรงงานผู้ส่งออกของจีนต้องได้ รับการตรวจสอบจากกรมประมงซึ่งใช้มาตรฐานเดียวกับอียูก่อนจึงจะส่งออกได้ และในขณะนี้จีนเสนอราคาต่ำมากและต่ำลงเป็นลำดับ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่น่ากลัว เพราะของจีนเข้าญี่ปุ่นได้น้อยลง และไม่กล้าเข้าอียู ก็จะเทไปที่สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ราคาตก ขณะนี้ผู้ค้าของสหรัฐฯ รอดูราคาเดือนตุลาคมของจีน เนื่องจากมีข่าวว่ากุ้งที่จะออกในเดือนตุลาคมเป็นกุ้งชุดใหญ่ ราคาจะตกลงพอควร ผู้ซื้อทั้งหมดจึงชะลอการสั่งซื้อ

     ตลาดแคนาดา เป็นตลาดที่มีโอกาสมาก ตัวเลขส่งออกของไทยไปยังของแคนาดาเพิ่มขึ้น แต่จุดที่น่ากลัวคือ แคนาดามีการตรวจไนโตรฟูแรน
     คุณพจน์มีการแนะนำว่าไทยต้องผลิตกุ้งให้ได้มาตรฐานโดยเฉพาะในเรื่องสารตกค้าง เพราะขณะนี้ประตูผู้นำเข้าหลักของไทยมีแนวโน้มว่าจะนำมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารมาใช้กันมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยแน่นอน
     " เงื่อนไขผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเราต้องทำให้ได้ฟู้ดเซฟตี้ (ความปลอดภัยของอาหาร) ผมอยากจะเรียนว่าข้อนี้ชัดเจนนะครับ สารตกค้างจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะกำหนดคำตอบว่าอุตสาหกรรมกุ้งบ้านเราจะไปได้หรือไปไม่ได้ แม้แต่ประเทศคู่แข่งของเราวันนี้ ถ้าเค้าแก้ปัญหาสารตกค้างไม่ได้ เค้าก็ต้องออกจากเวที ตลาดสหรัฐฯ สังเกตว่าเค้าบอกเค้าไม่แคร์ เค้าไม่ถามเรื่องไนโตรฯ ซักคำเลย 2 ปีที่ผ่านมา วันดีคืนดีก็บอกว่าเค้าสั่งแอลซีเอ็มมาใช้แล้ว ถามว่าใช้อะไร บอกใช้ตรวจคลอแรมฟินิคอล แล้วเค้าก็ลดสัดส่วนการตรวจคลอแรมฯ ลงมาตรวจเท่ากับอียู คำถามก็คือว่าไม่มีเหตุผลที่จะเอาแอลซีเอ็มมาตรวจคลอแรมฯ คาดว่าเค้าคงจะเอามาตรวจไรโตรฯในเร็ววันนี้ ผมเชื่อว่าที่เค้ายังไม่ส่งเรื่องไนโตรฯ มา เพราะว่าที่ผ่านมาคงแก้ปัญหาภายในตัวเองมากกว่า เพราะเค้ามีสินค้าของตัวเองมากพอควรที่มีไนโตรฯ อยู่ กุ้งไทยเราแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จไม่ได้ จริงๆยังเจอไนโตรฯ ในสินค้าส่งออก แต่ว่าสหรัฐฯ ยังรับได้ แต่ถ้าสหรัฐฯตรวจไนโตรฯ ขึ้นมาแล้วก็ตรวจในระดับเดียวกับอียู นี้เป็นคำถามใหญ่ของเราเลยว่าขณะที่เราจะทำอย่างไรดี ญี่ปุ่น เรื่องฟู้ดเซฟตี้กับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แรงขึ้นเรื่อยๆ ปีหน้าเชื่อว่าถ้ามองให้ดีๆ จีนก็ใช้มาตรการฟู้ดเซฟตี้ ขณะที่เราก็จะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. เหมือนกัน แล้วคนอื่นจะไม่ประกาศใช้หรือครับ เพราะมันเป็นเหมือนเกราะกำบังตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขนี้นะครับสารตกค้างต้องเอาออกให้ได้ คุณภาพผลิตภัณฑ์ความสดเป็นสิ่งจำเป็น"
     ในขณะเดียวกันกุ้งขาวซึ่งมีแนวโน้มว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่ากุ้งกุลาดำนั้น สิ่งที่ควรทำต่อไปคือการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาด และพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์กุ้งขาวยังอ้างอิงรูปแบบจากกุ้งกุลาดำในการทำตลาดอยู่
     "สิ่งที่เราควรทำคือการขยายรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมคล้องจองกับแต่ละตลาด หรือพยายามนำหน้าประเทศอื่นในเรื่องที่เราทำได้เค้าทำไม่ได้ ยกตัวอย่างกุ้งขาวแวนนาไม เราได้รับการติดต่อมาพอสมควร จากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มาทำกุ้งติดหัว โอเค เงื่อนไขดีพร้อมส่ง แต่ว่ามีสารตกค้างไม่ได้ หัวดำไม่ได้แล้วเค้าก็กลัวกลิ่นโคลน ถ้าเรามาพัฒนาตลาดกุ้งขาว เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวกุ้งขาว ทุกวันนี้กุ้งขาวผลิตภัณฑ์หลักคือกุ้งหักหัวแช่แข็งเป็นก้อน แต่เราพยายามที่จะฉีกแนวมันออกมา ออกมาทำเป็นต้ม ซึ่งจริงๆตัวนี้มันเป็นผลิตภัณฑ์ของกุ้งกุลาดำที่พัฒนามา 18-20 ปี จนกระทั่งมาเป็นสินค้าของกุลาดำ รสชาติ สีสัน ความกรอบ มันเหมาะกับกุ้งกุลาดำ เราก็พยายามที่จะหาผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดได้และเหมาะกับกุ้งขาวเพื่อให้เราพัฒาขึ้นมานำหน้าชาวบ้านเค้าประเทศอื่นทำไม่ได้ เรายืมผลิตภัณฑ์กุลาดำมาใช้ แต่กุ้งขาวสู้กุ้งกุลาดำไม่ได้ เพราะ 1. สีไม่สวย 2. หางไม่สวย 3. รสชาติความกรอบ แต่ราคามันถูกกว่ากุกุลาดำมาก เราไปเสนอ ลูกค้าเห็นถูกกว่าก็สั่งไปขายกัน แต่คำตอบสุดท้ายคือผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคทานแล้วเค้าไม่ชอบ...อันนี้จะเป็นคำถามปวดหัวของเราต่อไปว่า กุ้งขาวเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไร"
     3-4 ซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆในสหรัฐฯ ยังยืดหยัดกับกุลาดำไม่ยอมเปลี่ยนเป็นกุ้งขาว แต่ไม่แน่นะ ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์กุ้งขาวที่จะออกมาเป็นอย่างไร อยู่กับอนาคตกุลาดำบ้านเราจะมีหรือไม่มี หรือซื้อประเทศอื่นไม่ได้ ก็กลับมาดูกุ้งขาวบ้านเรา แต่อย่าเพิ่งตกใจนะครับ ผมไม่ได้บอกว่ากุ้งขาวไม่มีอนาคตนะครับ แต่เราต้องหาผลิตภัณฑ์กุ้งขาวขึ้นมาให้ได้ แล้วก็พัฒนารูปแบบของการหีบห่อ พัฒนาตลาดด้านลึก เพราะว่าถ้าเราขายแต่ผู้นำเข้าเป็นหลัก ผมเชื่อว่ากุ้งไทยเราเหนื่อย เพราะทุกวันนี้เป็นตลาดของผู้นำเข้า ผู้นำเข้าเลือกได้ที่จะซื้อจากประเทศที่ถูกกว่า ดีกว่า"
     ในตอนท้าย คุณพจน์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกุ้งไทยขณะนี้ว่า" ภาครัฐและเอกชนต้องกำหนดให้แน่นอนว่าจะเป็นกุลาดำหรือกุ้งขาว ผมว่าภาพรวมเรามีปัญหา ต้องหาทางกำหนดให้ชัดเจนว่าเราจะไปในแนวทางไหนกัน ผมเชื่อว่าภาครัฐพยายามแก้ปัญหา แต่ยอมรับว่ามีความสับสนหรือ conflict ผมเคยคุยกับผู้ส่งออก บอกว่าท่านอดิศัย ท่านเนวิน ท่านสุดารัตน์ แก้ตรงนี้ไปได้เยอะ เพราะฉะนั้นผมว่ากำหนดแผนให้ชัดเจนดีกว่าว่าจะไปขาวหรือไปดำ ถ้าคิดว่ากุ้งขาวมีอนาคตชัดเจน ก็ได้จะได้สนับสนุนเต็มที่ เรื่องพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ กรมประมงตัดงบกันมาดูแลเลย เรื่องโรคระบาด เรื่องอื่นๆก็เหมือนกัน กำหนดเลยว่าเราจะเลี้ยงกันเท่าไหร่ พื้นที่ไหนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ พื้นที่ไหนเลี้ยงกุ้งขาว ในอนาคตกุลาดำทุนสูงกว่า แต่ถ้าเรามองแล้วเราจำเป็นต้องเอากุลาดำไว้เพราะเราเลี้ยงมาจนเป็นที่ 1 ในโลก แล้วไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีไซส์นี้ ถ้าจำเป็นต้องเอาไว้เพื่อเป็นตัวโชว์ตลาด ภาครัฐต้องหาเงื่อนไขหรือหาทางมาช่วยเหลือ แต่ถ้าเทมาเลี้ยงกุ้งขาวกันหมด สมมุติ 4 แสนตัน แล้วจะเอาไปขายที่ไหนกันหมด สุดท้ายกลายเป็นกุ้งขาวทั้งโลก แล้วจะไปขายที่ไหน แล้วเราก็ควรศึกษาจุดด้อยระหว่างกุลากับขาว รัฐจะช่วยอะไรได้บ้าง ผมยืนยันว่าถ้าเลี้ยงขาวหมดเราจะเหนื่อยกว่านี้ กุ้งดำเลี้ยงให้ไซส์อยู่ประมาณ 40-60 ตัวจะปลอดภัย ไม่มีใครมาแข่งกับเราได้"


โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

วารสารข่าวกุ้ง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 182 เดือนกันยายน 2546.หน้า 3.

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=145

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.