Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

 กุ้งก้ามกราม
21/8/2545 11:21:54, by
กรมประมง

 
                    กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

มีชื่อสามัญ Giant Freshwater Prawn
ชื่อวิทยาศาสตร์ Macrobra chium rosenbergii de Man

มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อคือ กุ้งนาง กุ้งหลวง กุ้งก้ามเกลี้ยง กุ้งแห กุ้งใหญ่ และภาคใต้เรียกแม่กุ้ง เป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีราคาแพง

 แหล่งที่อยู่อาศัย
กุ้งก้ามกรามอาศัยในแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีทางน้ำไหลติดต่อกับน้ำทะเล จึงสามารถดำรงชีพได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด เคยมีชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ทางภาคใต้พบที่แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำตาปี โดยเฉพาะในทะเลสาบสงขลาและพัทลุง มีชุกชุมมากที่สุด ความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดลง เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น การทำการประมงมากเกินควร การทำการประมงผิดวิธี ปัญหาจากมลภาวะต่างๆ การเพิ่มขึ้นของประชากรดังนั้น การเพาะเลี้ยงเพื่อชดเชยจากธรรมชาติ ได้พัฒนาการขึ้นมาตามลำดับทำให้การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องอาศัยความรู้ ความเอาใจใส่ พร้อมทั้งได้พันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ดีและแข็งแรง
 ปัจจัยในการเลือกสถานที่
การเลือกสถานที่นับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความสำเร็จ
1. คุณภาพดิน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำได้ดีและคันดินไม่พังทลายง่าย ไม่ควรเป็นดินเปรี้ยวจัดเมื่อเก็บกักน้ำทำให้น้ำเป็นกรดซึ่งไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยง อาจทำให้กุ้งตายหมด
2. คุณภาพน้ำ แหล่งน้ำควรมีคุณภาพดี สะอาด ปราศจากสารเคมี สารพิษ ของเสียจากโรงงาน อุตสาหกรรม แหล่งชุมชน ยาฆ่าแมลง และแหล่งน้ำควรมีปริมาณเพียงพอต่อการสูบใช้ตลอดทั้งปี
 การเตรียมน้ำเลี้ยงกุ้ง
ถ้าน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งมีคุณภาพดีสามารถสูบน้ำลงเลี้ยงได้โดยตรง โดยไม่ต้องสูบฟักในบ่อพักน้ำเมื่อสูบน้ำเข้าบ่อควรกักน้ำไว้ในบ่อ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำปรับสภาพเข้าสู่ภาวะสมดุลเสียก่อน สำหรับน้ำที่ใช้สูบเข้าบ่อเลี้ยง หากเป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำลำคลองควรมีบ่อเก็บน้ำตากพักไว้ให้ธรรมชาติปรับสภาพน้ำให้มีคุณสมบัติเหมาะสมก่อนแล้วจึงสูบผ่านตะแกรงหรือผ้ากรองเพื่อลดปริมาณสารตกค้างและศัตรูกุ้งที่ปนมากับน้ำ
 การปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกรามลงเลี้ยง
เวลาที่ปล่อยพันธุ์กุ้งเลี้ยงดีที่สุดถึงเวลาเช้าเวลาเย็น โดยระดับน้ำในบ่อไม่ควรต่ำกว่า 60 เซนติเมตร วิธีการปล่อยต้องนำถุงพลาสติกที่บรรจุลูกกุ้งแช่ในบ่อประมาณ 20 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำหลังจากนั้นจึงเปิดถุงออกแล้วค่อยๆเติมน้ำในบ่อเลี้ยงผสมกับน้ำในถุงให้เท่ากันก่อน การปล่อยกุ้งลงเลี้ยง การปล่อยกุ้งลงเลี้ยงทันทีอาจทำให้กุ้งช๊อคหรือตายเกือบหมดในขณะที่จะทำการปล่อยกุ้ง หากสามารถสูบน้ำเข้าบ่อบริเวณที่จะทำการปล่อยพันธุ์กุ้งได้จะช่วยให้กุ้งมีความแข็งแรงมากขึ้น
 อัตราการปล่อย
พันธุ์กุ้งที่จะปล่อยควรปรับให้อยู่ในสภาพน้ำจืดแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 วัน และไม่มีลักษณะขาวขุ่นของลำตัวคล้ายเม็ดข้าวเหนียว นอกจากนี้กุ้งที่จะปล่อยควรมีลักษณะเคลื่อนไหว ปราดเปรียวอัตราการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10 ตัว/ตารางเมตร ซึ่งเป็นลูกกุ้งที่คว่ำแล้วหรือลูกกุ้งขนาด 1-2 เซนติเมตร ถ้าหากปล่อยประมาณ 30 ตัว/ตารางเมตร หรือ 48,000 ตัว/ไร่ นาน 3 เดือน จึงย้ายลงบ่อเลี้ยงในอัตรา 5-10 ตัว/ตารางเมตร
 อาหารและการให้อาหาร
กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำที่กินอาหารทุกชนิดแต่ที่ชอบคือ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์เช่น ปลาสด หอย เนื่องจากกุ้งมีทางเดินอาหารคือ กระเพาะและลำไส้สั้น ดังนั้น จึงควรให้อาหารในปริมาณน้อยแต่ให้บ่อยครั้งอย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง โดยแบ่งให้ทีละส่วนจนครบปิมาณที่ให้ต่อวัน อัตราการให้อาหารลูกกุ้งในช่วงแรกประมาณ 30-40% ของน้ำหนักกุ้งเดือนแรกหลังจากนั้นลดลงมาเหลือ 3-5% ของน้ำหนักตัวกุ้งที่เลี้ยงต่อวันในเดือนที่ 3 ประมาณอาหารที่ให้ในเดือนแรกตามอัตราการปล่อยที่กำหนดประมาณ 0.5-1.0 กก./ไร่/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 1.0-2.0 กก./ไร่/วัน ในเดือนที่ 2 เนื่องจากกุ้งกินอาหารด้วยวิธีการแทะ ดังนั้นอาหารของกุ้งควรเป็นอาหารจมชนิดเม็ดหรือแท่งสั้นๆ เพื่อสะดวกในการกัดกินและคงสภาพในน้ำได้นานประมาณ 6-12 ชั่วโมง โดยไม่ละลายน้ำถ้าละลายน้ำง่ายจะทำให้ผิวพื้นบ่อกุ้งเสียง่ายน้ำที่ใช้เลี้ยงคุณภาพไม่เหมาะสม ผลผลิตขั้นสุดท้ายของกุ้งลดต่ำเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเวลาการให้อาหารควรให้อาหารกุ้งวันละ 2-4 ครั้ง ปกติกุ้งจะกินอาหารได้ดีและกลางคืน ดังนั้นอาจจะแบ่งอาหารให้เป็นช่วงเช้าเพียงเล็กน้อย และให้มากในเวลา
ตอนเย็นถ้าให้อาหารวันละ 2 มื้อ โดยให้ช่วงเช้า 3 ส่วน ช่วงเย็น 7 ส่วน อาหารที่ใหม่จะมีกลิ่นหอมชวนให้กุ้งกินอาหารได้ดี
 การถ่ายเทน้ำในบ่อ
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้นต้องมีการตรวจสภาพน้ำในบ่อเป็นประจำ โดยเฉพาะน้ำในบ่อที่เขียวจัด จะทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจนซึ่งทำให้กุ้งตายได้ง่าย การแก้ไขต้องกระทำโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างรีบด่วน นอกจากนี้การถ่ายน้ำยังมีส่วนสัมพันธ์กับอายุขนาดของกุ้ง การเจริญเติบโตโดยน้ำใหม่จะกระตุ้นให้กุ้งลอกคราบ สำหรับการเลี้ยงช่วง 1-2 เดือนแรกอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ใช้วิธีเพิ่มระดับน้ำทุกสัปดาห์ หลังจากนั้นในเดือนที่ 3 และถัดมาอาจมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำเดือนละ 2-4 ครั้งโดยถ่ายน้ำครั้งละ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของน้ำในบ่อขึ้นอยู่กับสภาพน้ำในบ่อทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล
การถ่ายเทน้ำอาจจะทำควบคู่กับการใช้โซ่ลากก้นบ่อ 2-3 ครั้ง ต่อการถ่ายเทน้ำแต่ละครั้งเพื่อกำจัดของเสียก้นบ่อ ในกรณีก้นบ่อมีเศษอาหารและของเสียหมักหมมมาก วิธีนี้จะไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อกุ้ง การระบายน้ำก้นบ่อให้มากที่สุดอาจเสริมด้วยการดูดเลน หลังจากเลี้ยงกุ้งได้ 4-5 เดือนโดยทำ 1-2 เดือนต่อครั้ง ในช่วงที่ทำการสูบน้ำควรลดปริมาณอาหารที่ให้ลดลง 1-2 วัน เพราะกุ้งบางส่วนได้น้ำใหม่จะลอกคราบทำให้อ่อนแอไม่กินอาหารในวันนั้นๆท คุณค่าทางอาหารของอาหารกุ้งควรมีโปรตีน 20% หรือระหว่าง 17-25% การเพิ่มหรือลดอาหารที่ให้ต่อวัน ควรกระทำโดยการตรวจสอบการกินอาหารของกุ้งในแต่ละวันเสียก่อนว่าเหลือหรือไม่ ถ้าหมดจะต้องให้เพิ่มมากขึ้นแต่ต้องไม่มากเกินไปจนเหลือและเน่าเสีย การตรวจสอบการกระทำหลังจากให้อาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง สำหรับฝนตกหรือมีอาการเปลี่ยนแปลงมากๆ หรือมีหมอกลงไม่ควรให้อาหารหรืออาจจะให้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย
 ระยะเวลาการเลี้ยงและการจับ
ระยะการเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดของกุ้งที่ตลาดต้องการ โดยทั่วไปหลังจากเลี้ยง 6 เดือน จะเริ่มทำการคัดขนาดและจับขายโดยคัดกุ้งขนาดใหญ่ที่มีอยู่ออกขาย เกษตรกรส่วนใหญ่จะเริ่มจับกุ้งจิ๊กโก๋ ถ้าพลาดและกุ้งตัวเมียออกขายก่อนเพื่อให้กุ้งตัวผู้ส่วนใหญ่ที่เหลือเจริญเติบโตได้ดี หลังจากนั้นจะทำการจับในช่วง 1 เดือนครึ่ง - 2 เดือน ถ้ามีกุ้งน้อยควรวิดบ่อจับกุ้งขายให้หมดในการจับแต่ละครั้งควรใช้อวนขนาดช่องตาประมาณ 4 เซนติเมตร เพื่อให้กุ้งที่มีขนาดเล็กลอดไปได้และลดการบอบช้ำ ในการจับให้ได้ผลดีเกษตรกรควรลดระดับน้ำให้เหลือประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมกับใช้อวนที่มีตีนอวนหนัก(ตะกั่วถ่วง) เชือกคร่าวบนเวลาลากจะใช้ไม้ไผ่ค้ำไว้โดยอาจเสียบกับต้นกล้วยที่ตัดมาทำทุ่นลอย การจับกุ้งมักนิยมจับในช่วงเช้าเนื่องจากอากาศไม่ร้อนมาก
                     
                 ในปัจจุบันนี้การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมีแหล่งใหญ่อยู่ในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี และราชบุรีพื้นที่ฟาร์มที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามมีตั้งแต่ 1 ไร่ถึง 300 ไร่แต่ส่วนมากพื้นที่การเลี้ยงอยู่ในระหว่าง 10 ถึง 30 ไร่
 การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม แต่เดิมนั้นต้องอาศัยพันธุ์กุ้งที่จับได้ตามแหล่งตามแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณไม่พอเพียงสำหรับการเลี้ยง กรมประมงจึงได้เริ่มทำการทดลองเพาะฟักกุ้งก้ามกราม ทั้งนี้เริ่มทดลองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยนายอารีย์ สิทธิมังค์ และคณะ ได้นำแม่กุ้งที่มีไข่แก่มาทดลองให้วางไข่ในตู้กระจกเป็นครั้งแรกได้สำเร็จและได้ลูกกุ้งวัยอ่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็ตายหมดในปี พ.ศ. 2505 ดร.เชา เวนลิง ซึ่งทำงานที่ปีนังประเทศมาเลเชียประสบผลสำเร็จในการอนุบาลลูกกุ้งก้ามกรามโดยพบว่าสภาวะน้ำกร่อยคือ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดการเจริญเติบโตและฒนาการของลูกกุ้งก้ามกรามจึงได้มีผลการทดลองกันใหม่ในประเทศไทยและประสบผลสำเร็จครั้งแรกโดยนักวิชาการของสถานีประมงจังหวัดสงขลาชึ่งสามารถผลิตลูกกุ้งชุดแรกได้ 500 ตัวใน พ.ศ.2509 หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการเพาะฟักเเละอนุบาลเพื่อให้ผลผลิตลูกกุ้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใน พ.ศ. 2513โรงเพาะฟัก 2 แห่งของกรมประมงที่สงขลาและที่บางเขน กรุงเทพฯ ก็สามารถผลิตลูกกุ้งให้แก่ผู้เลี้ยงได้ถึง 692,000 ตัวโดยการอนุบาลลูกกุ้งในระยะแรก ๆ นั้นให้ไรแดงและอาร์ทีเมียเป็นอาหาร
 ชีววิทยาของกุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกรามมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่นกุ้งนาง, กุ้งหลวง, กุ้งก้ามเกลี้ยง, กุ้งแห, กุ้งใหญ่เป็นสัตว์ที่อยู่ใน phylum Arthropoda Class Crustacea SubclassMalacostraca มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergii De man มีชื่อสามัญเรียกว่า Giant Freshwater Prawn กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ของประเทศไทย ตัวโตที่สุดเท่าที่เคยพบมีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 25 เซนติเมตร หนัก 470 กรัมพบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
+ ลักษณะทั่วไปของกุ้งก้ามกราม
ลักษณะภายนอกโดยทั่วไปของกุ้งก้ามกราม กุ้งก้ามกรามมีลำตัวเป็นปล้อง ส่วนหัวและอกคลุมด้วยเปลือกชิ้นเดียวกัน ส่วนของลำตัวมีลักษณะเป็นปล้องๆมี 6 ปล้องกรีมีลักษณะโค้งขึ้นมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อยโดยด้านบนมีจำนวนระหว่าง 13 - 16 ชี่ด้านล่างมีจำนวนระหว่าง 10-14 ชี่โคนกรีกว้างและหนากว่า ปลายกรียาวถึงแผ่นฐานหนวดคู่ที่ 2กุ้งก้ามกรามมีหนวด 2 คู่ หนวดคู่แรกส่วนของโคนหนาแบ่งเป็น 3 ข้อปล้อง ปล้องที่ 3 แยกเป็นเส้นหนวด 2 เส้น หนวดคู่ที่สองยาวกว่าหนวดคู่ที่หนึ่งแบ่งเป็น 5 ข้อปล้องความยาวของแผ่นฐานหนวดคู่ที่สองยาวเป็น 3 เท่าของความกว้างแผ่นฐานหนวดคู่ที่สองขาเดินของกุ้งก้ามกรามมี 5 คู่ โดยขาคู่หนึ่งและที่สอง ตรงปลายมีลักษณะเป็นก้าม ส่วนคู่ที่สามสี่ ห้าตรงปลายมีลักษณะเป็นปลาย แหลมธรรมดา ขาเดินคู่ที่สองที่มีลักษณะเป็นก้ามนั้นถ้าเป็นกุ้งตัวผู้จะมีลักษณะใหญ่มากโดยทั่วๆไปส่วนของก้ามทำทน้าที่ในการจับอาหาร ป้อนเข้าปากและป้องกันศัตรู ขาว่ายของกุ้งก้ามกรามมี 5 คู่ส่วนแพนหางมีลักษณะแหลมตรงปลายด้านข้างเป็นแพนออกไป 2 ข้าง ลักษณะของสี สีของกุ้งก้ามกรามโดยทั่วไปมีสีน้ำเงินอมเหลืองโดยเฉพาะขาเดินคู่ที่เป็นก้ามและส่วนของลำตัวมีสีน้ำเงินเข้ม ปลายขามักเป็นชมพูอมแดง แพนหางตอนปลายมีสีชมพูอมแดงทั่ว ๆ ไป
+ การแพร่กระจาย
กุ้งก้ามกรามมีถิ่นกำนิดในทวีปเอเชีย พบทั่วไปในประเทศไทย พม่า เวียดนาม เขมร มาลาเซีย บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเคยมีรายงานว่าพบในมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยกุ้งก้ามกรามแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด เช่น ภาคกลางพบอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำนครนายก เช่นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง นครสวรรค์ ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาครสมุทรสงคราม ภาคตะวันออกพบที่แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำระยอง จ.ระยอง และแม่น้ำเวฬุ จ.ตราด ส่วนภาคเหนือเคยพบกุ้งก้ามกรามที่แม่น้ำเมย ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวิน ที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก นอกจากนี้ยังพบในที่ที่มีทางน้ำไหลขึ้นลงติดต่อกับทะเลในภาคใต้พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี ทะเลสาบสงขลา พัทลุงชุมพร ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์
+ ความแตกต่างระหว่างกุ้งเพศผู้และเพศเมีย
กุ้งก้ามกรามที่ยังมีขนาดเล็กสามารถแยกเพศโดยดูลักษณะของขาว่ายน้ำคู่ที่สองถ้าเป็นกุ้งเพศเมียตรงปลายขาว่ายน้ำคู่ที่สอง ตรงปล้องสุดท้ายแยกออกเป็นแขนง 3 อัน โดยอันเล็กสุดอยู่ด้านใน ถ้าเป็นกุ้งเพศผู้ปลายขาว่ายคู่ที่สองแยกเป็นแขนง 4 อัน กุ้งที่มีขนาดโตสามารถแยกเพศผู้เพศเมีย โดยกุ้งที่ขนาดโตเต็มวัยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียนอกจากนี้ก้ามของตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าของตัวเมียอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่เปลือกหุ้มตัวส่วนท้องของตัวผู้จะแคบกว่าของตัวเมีย ลักษณะอื่น ๆที่ใช้แยกเพศกุ้งขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่ ได้แก่ ช่องเปิดสำหรับน้ำเชื้อของตัวผู้และช่องเปิดสำหรับไข่ของตัวเมียโดยตัวผู้ช่องเปิดอยู่บริเวณโคนขาเดินคู่ที่ห้าส่วนตัวเมียช่องเปิดอยู่โคนขาคู่ที่สาม
+ ระบบสืบพันธุ์
กุ้งก้ามกรามตัวผู้ต่อมผลิตน้ำเชื้อมีลักษณะเป็นพูแบน 2 พูขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ที่ปลายเชื่อมติดกัน ตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนส่วนที่เป็นตับและตับอ่อนและอยู่ด้านล่างของหัวใจ ส่วนท้ายของต่อมผลิตน้ำเชื้อแต่ละพูมีท่อนำน้ำเชื้อมาบริเวณโคนขาเดินคู่ที่ห้า และส่งต่อมายังถุงเก็บน้ำเชื้อซึ่งมีช่องเปิดออกภายนอกที่โคนขาเดินคู่ที่ห้าทั้ง 2 ข้าง น้ำเชื้อของกุ้งก้ามกรามเพศผู้ไม่เคลื่อนไหว มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดขนาดกว้างประมาณ 7.5 ไมครอน และมีหางเล็ก ๆ ยาวประมาณ 12.5ไมครอน น้ำเชื้อตัวผู้จะถูกผลิตที่ด่อมผลิตน้ำเชื้อและนำมาเก็บที่โคนขาเดินคู่ที่ห้าโดยมีผนังบาง ๆ หุ้มอยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อหนึ่ง ๆ จะพบถุงน้ำเชื้อประมาณ 2 ถุงกุ้งก้ามกรามเพศเมียรังไข่อยู่ตำแหน่งเดียวกับต่อมผลิตน้ำเชื้อของตัวผู้ลักษณะเป็นพูแบน ๆ 2 พูเชื่อมติดกันทางด้านท้ายมีขนาดใหญ่จนบังส่วนของตับและตับอ่อนได้ทั้งหมดในช่วงมีไข่รังไข่จะขยายใหญ่คลุมส่วนหัว อก และหัวใจ ท่อนำไข่ทั้งสองข้างเป็นท่อโค้งมีช่องเปิดออกภายนอกที่โคนขาเดินคู่ที่สาม
+ การผสมพันธุ์วางไข่
กุ้งก้ามกรามสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดปี การผสมพันธุ์จะเกิดเมื่อตัวเมียลอกคราบและเปลือกยังอ่อนอยู่ตัวผู้จะเข้าผสมโดยให้น้ำเชื้อตัวผู้ชึ่งมีล้กษณะคล้ายสารเหนียวไปติดอยู่กับส่วนหน้าอกระหว่างขาเดินของตัวเมีย ตัวเมียจะวางไข่ภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการผสมพันธุ์ ไข่ที่ปล่อยออกมาจะถูกผสมกับเชื้อตัวผู้ที่ติดอยู่ที่ส่วนอกแล้วไข่จะถูกนำไปเก็บอยู่
บริเวณส่วนท้องระหว่างขาว่ายน้ำ โดยขาว่ายน้ำจะทำหน้าที่โบก พัดน้ำให้ไหลผ่านเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่ไข่ ไข่ที่ติดขาว่ายน้ำในระยะแรก ๆ มีสีเหลืองอมส้มมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 -0.8 มม. มีรายงานว่าไข่มีการพัฒนาไปจนมีอวัยวะครบทุกส่วนภายในเปลือกไข่ขณะเดียวกันถ้าสังเกตจากภายนอกจะเห็นสีของไข่เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งระยะสุดท้ายเปลี่ยนเป็นสีเทาดำ และรูปร่างของกุ้งพับงอภายในเปลือกไข่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ชัดเจนใช้เวลาประมาณ 17 - 21 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำหลังจากนั้นจึงจะฟักเป็นตัว
 การเพาะและอนุบาลกุ้งก้ามกราม
การเพาะกุ้งก้ามกรามนั้นมีปัจจัยโดยสังเขปดังนี้
+ การเลือกสถานที่

1)โรงเพาะฟักในอดีตที่ผ่านมาอยู่ใกล้แหล่งน้ำจืดและใกล้แหล่งน้ำเค็ม เนื่องจากการเพาะลูกกุ้งก้ามกรามในระยะแรกต้องใช้น้ำที่มีความเค็มระหว่าง 10-15 ส่วนในพันส่วนปัจจุบันจากการค้นคว้าและวิจัยของกรมประมงโดยการใช้น้ำนาเกลือที่มีความเค็มสูง(ระหว่าง 70-170 ส่วนในพันส่วน)ไปเจือจางกับน้ำจืดทำให้โรงเพาะฟักสามารถตั้งอยู่ในแหล่งที่ไกลน้ำทะเลได้แต่ต้องใกล้แหล่งน้ำจืดโดยการลำเลียงน้ำที่มีความเค็มสูงดังกล่าวข้างต้นไปใช้เพาะเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกราม
2) ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะฟัก เช่น ใช้ในการทำงานของเครื่องเพิ่มอากาศในน้ำเครื่องสูบน้ำ โคมไฟ แสงสว่าง  
     ตู้เย็น ดังนั้นโรงเพาะฟักควรอยู่ในเขตที่มีไฟฟ้าผ่าน
3) โรงเพาะฟักควรอยู่ห่างจากแห่งอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่มีสภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม
4) โรงเพาะฟักควรอยู่ใกล้แหล่งพ่อแม่พันธุ์
5) โรงเพาะฟักควรอยู่โนแหล่งที่มีการคมนาคมสะดวก
+ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเพาะฟัก
1) บ่อ บ่อที่ใช้ในการเพาะลูกกุ้งก้ามกรามส่วนมากใช้บ่อซีเมนต์ มีทั้งบ่อรูปทรงกลมและบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดและรูปร่าง
    ของบ่อแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์จะประกอบด้วยบ่อดังต่อไปนี้
ก. บ่อพักน้ำโดยทั่วไปจะสร้างในลักษณะอเนกประสงค์ ขนาดที่นิยมใช้มีความจุประมาณ 3-5 เท่า
    ของบ่อเพาะฟักหรือบ่ออนุบาล
ข. บ่อพักน้ำจืด บ่อพักน้ำเค็ม บ่อผสมน้ำส่วนมากจะใช้บ่อพักน้ำในการทำเป็นบ่อพักน้ำจืดน้ำเค็มและทำเป็นบ่อผสมน้ำ
ค. บ่อเพาะฟักและบ่ออนุบาลบ่อ บ่อจะมีขนาดประมาณ 2.5 ตัน รูปร่างของบ่อแล้วแต่ผู้ใช้ อาจเป็นบ่อคอนกรีตสี่เหลี่ยม หรือทรงกลมก็ได้ ถ้าเป็นบ่อทรงกลมก็มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 -3.0 เมตรความสูงประมาณ 70 - 100 ถ้าเป็นบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนมากจะเป็นบ่อแผดมีขนาดความกว้าง 1.50 เมตรความยาวประมาณ 2.50- 5.0 เมตรผนังตรงกลางใช้ร่วมกันความสูงประมาณ 70 ชม. และสามารถใช้กระเบื้องปิดได้พอดีบ่อเพาะฟักและบ่ออนุบาลนั้นสามารถ
ใช้ร่วมกันได้
ง. บ่อเพาะลูกไรน้ำเค็มส่วนมากใช่บ่อกลมคอนกรีตสูงประมาณ 60-70 ชม.เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80-100 ชม. หรืออาจใช้ถังไฟเบอร์ขนาดใกล้เคียงแทนก็ได้
+ ระบบการเพิ่มอากาศในน้ำ
ก. เครื่องเพิ่มอากาศในน้ำมี 3 แบบคือ เครื่องเพิ่มอากาศแบบสูบแทนที่เครื่องเป่าอากาศแบบหมุน (Roots Blower) เครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) ขนาดของเครื่องที่ใช้ให้เหมาะสมกับโรงเพาะฟัก
ข. การเดินท่อลมในโรงเพาะฟัก โดยทั่วไปใช้ท่อ พีวีซี. วางต่อจากเครื่องเพิ่มอากาศในน้ำโดยท่อหลักต่อจากเครื่องเพิ่มอากาศในน้ำ ควรมีขนาดเท่ากับท่อลมที่ต่อจากเครื่องเพิ่มอากาศในน้ำ
+ เครื่องสูบน้ำ โดยทั่วไปมีหลายรูปแบบจะใช้ขนาดใดขึ้นกับขนาดของกิจการ ลักษณะการใช้งานและความสะดวกในการบำรุงรักษา เช่น โรงเพาะฟักขนาดเล็กอาจใช้เครื่องสูบน้ำที่ฉุดด้วยมอเตอร์หรือใช้เป็นเครื่องปั๊มหอยโข่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วก็ได้ ถ้าเป็นโรงเพาะฟักขนาดใหญ่ใช้ปั๊มหอยโข่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว และถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากควรเพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำซึ่งจะสะดวกกว่าในการใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่โรงเพาะฟักที่อยู่ไกลทะเล เครื่องสูบน้ำส่วนมากจะใช้เป็นเครื่องสูบน้ำชนิดจุ่ม (Submersible pump)ซึ่งใช้งานได้อเนกประสงค์ปกติจะใช้เครื่องสูบน้ำชนิดจุ่มขนาด 2 นิ้ว 1 เครื่อง สำหรับสูบน้ำจืดจากแหล่งน้ำมาเก็บในบ่อพักน้ำ หรือใช้ในการสูบน้ำมาผสมกันให้ได้ความเค็มที่ต้องการ นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องสูบน้ำขนาด 1 นิ้ว ใช้สำหรับสูบน้ำผ่านผ้ากรองเพื่อกรองน้ำในบ่ออนุบาลและบ่อเพาะฟัก
+ เครื่องตรวจสอบคุณสมบัติบางประการของน้ำ
ก. เครื่องวัดความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ pH meter มีหลายแบบและมีขายตามร้านขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ บางชนิดก็เป็นแบบกระดาษวัดหรือบางชนิดใช้เป็นน้ำยาหยด แล้วเทียบสีแสดงว่าเป็นกรด-ด่าง เครื่องวัดความเป็นกรดด่าง มีประโยชน์ในการวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำที่ใช้ในการเพาะฟัก ค่าที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7.5-8.5
ข. เครื่องวัดความเค็มเป็นการวัดความเค็มโดยใช้ระบบการหักเหของแสง
(1) Salinometer เป็นเครื่องวัดความเค็มของน้ำโดยอาศัยระบบการหักเหของแสง ใช้สำหรับวัดความเค็มของน้ำที่ใช้
      ในการเพาะฟักกุ้ง ปกติความเค็มของน้ำที่ใช้ในการเพาะกุ้งก้ามกรามอยู่ในช่วง 10-15 ส่วนในพัน ในการเริ่มต้นเพาะฟัก
(2) ใช้วิธีทางเคมีโดยการนำน้ำที่ต้องการวัดความเค็มมาไตเตรตด้วยสารเคมี แล้วคำนวณเป็นค่าความเค็มที่ต้องการทราบ
(3) ไฮโดรมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดความเค็มโดยอาศัยค่าความถ่วงจำเพาะและอุณหภูมิของน้ำ แล้วคำนวณเปลี่ยนเป็นค่า
       ความเค็มของน้ำ
ค. เครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermometer) ใช้สำหรับวัดอุณหภูมิในบ่อเพาะฟักปกติ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเพาะกุ้งก้ามกรามอยู่ในช่วง 28-31 องศาเซลเซียส
+ สารเคมีที่ใช้ในการเพาะฟักกุ้งก้ามกราม
ก. แคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อทำความสะอาดอุปกรณ์ในโรงเพาะฟักและฆ่าเชื้อโรคในน้ำก่อนที่จะไปใช้
ข. ฟอร์มาลิน ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในโรงเพาะฟัก ฆ่าโปรโตซัวและพยาธิภายนอกที่เกาะตามตัวกุ้ง
ค. วัสดุปูน เช่น ปูนขาว ใช้สำหรับปรับความเป็นกรด-ด่าง เพื่อให้น้ำมีคุณภาพเหมาะสมในการเพาะฟักกุ้งก้ามกราม
ง. ยาปฏิชีวนะซึ่งในในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบยคทีเรียได้แก่ ออกซีเตตร้าซัยคลิน คลอแรมฟินิคอล อิริธมัยซิน (ยาปฏิชีวนะจะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ห้ามใช้พร่ำเพรื่อ)
 วิธีการและขั้นตอนในการเพาะฟัก
+ การเตรียมบ่อเพาะฟัก
ในการเพาะเตรียมบ่อเพาะฟักนั้นต้องมีการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เพาะฟักตั้งแต่บ่อพาะฟัก รางน้ำทิ้งภายในโรงเพาะฟัก ถังเพาะลูกไรน้ำเค็ม บ่อพักน้ำบ่อผสมน้ำ บ่อเก็บน้ำโดยบ่อพักน้ำต้องล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง บ่อเพาะฟักต้องล้างให้สะอาดตากให้แห้งแล้วใช้ผงแคลเซียมไฮเปอร์คลอไรต์เข้มข้นผสมน้ำจืดราดให้ทั่วทั้งบ่อเพาะฟักและรางน้ำในโรงเพาะฟัก ส่วนอุปกรณ์พวกผ้ากรองน้ำ หัวทราย สายลม หลังจากทำความสะอาดแล้วตากให้แห้ง เสร็จแล้วมาแช่ในน้ำยาฟอร์มาลินเข้มข้นทิ้งไว้ 2-3 วัน เอามาล้างออกด้วยน้ำจืดสะอาด เอาไปตากแดดให้แห้งสนิทแล้วเก็บไว้ในที่ร่ม ก่อนจะนำไปใช้ควรล้างด้วยน้ำจืดที่ผ่านการฆ่าเชื้อทำความสะอาดอีกครั้ง
+ การเตรียมน้ำสำหรับใช้เพาะกุ้ง
ใช้น้ำทะเลหรือน้ำนาเกลือ น้ำเป็นน้ำสะอาดมีคุณสมบัติเหมาะสม ก็สมารถนำมาใช้ได้ทันที ถ้าไม่แน่ใจว่าสะอาดก็ควรจัดการใช้น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเสียก่อนซึ่งมีอยู่หลายวิธี การกรองน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำขนาดต่าง ๆ หรือการใช้สารเคมี เช่น แคลเซียมไฮเปอร์คลอไรต์ฆ่าเชื้อโรคในน้ำและทำให้สารแขวนในน้ำตกตะกอนโดยใช้ประมาณ 30- 50 กรัม/น้ำ 1 ตัน ส่วนน้ำจืดจากแหล่งน้ำจืดใช้ผลแคลเซียมไฮเปอร์คอลไรด์เพื่อฆ่าเชื้อโรคเช่นเดียวกัน เปิดลมเป่าเพื่อให้คลอรีนกระจายให้ทั่วทิ้งไว้ 2-3 วัน เสร็จแล้วตรวจสอบว่าคลอรีนหมดหรือยังโดยใช้น้ำยา โอโธ-โทลิดีน Q-TOLIDINE โดยหยดน้ำยา 2-3 หยดลงในน้ำที่ต้องการตรวจสอบ ถ้าน้ำนั้นมีคลอรีนหลงเหลืออยู่จะมีสีเหลืองปรากฏขึ้นหรือมีสีเหลืองเข้มแสดงว่าคลอรีนเหลืออยู่มาก ถ้ามีสีเหลืองอ่อนแสดงว่าคลอรีนใกล้จะหมด ถ้าไม่มีสีแสดงว่าคลอรีนหมดแล้ว ปิดลมเพื่อให้สารแขวนลอยตกตะกอนประมาณ 24 ชั่วโมง เสร็จแล้วผสมน้ำทะเลหรือน้ำนาเกลือกับน้ำจืด ให้ได้ความเค็มประมาณ 10-15 พีทีที.บ่อที่เพาะลูกไรน้ำเค็ม
+การเตรียมแม่กุ้งที่จะนำมาเพาะ
แหล่งที่มาของแม่กุ้งมี 2 แหล่ง คือ จากธรรมชาติและจากบ่อเลี้ยงโดยคัดแม่กุ้งที่มีไข่แก่ติดท้องใกล้จะฟักเป็นตัวโดยสังเกตจากสีไข่ของแม่กุ้ง ไข่อ่อนจะมีสีส้มถ้าไข่แก่จะมีสีเทาดำ แม่กุ้งที่นำมาให้วางไข่ควรเลือกแม่กุ้งที่มีขนาดใหญ่ นำแม่กุ้งไปใส่ในบ่อเพาะที่น้ำเค็ม 10-15 พีทีที. ระดับน้ำ 40 ซม. พื้นที่ 10 ตารางเมตรใช้แม่กุ้งประมาณ 2-3 กก. ให้แม่กุ้งวางไข่ทิ้งไว้ 1 คืน ย้ายแม่กุ้งไปวางไข่อีกบ่อหนึ่งเสร็จแล้วกระจายลูกกุ้งออกไปอนุบาลยังบ่อเพาะอื่น โดยให้ความหนาแน่น อยู่ประมาณ 100 ตัว/ลิตร ระดับน้ำประมาณ 50-70 ซม. ในกรณีที่แม่กุ้งมีตัวเพรียงเกาะติดมา ก่อนนำแม่กุ้งไปเพาะควรฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอร์มาลิน 50 พีพีเอ็ม.เป็นเวลา 3-6 ชั่วโมง
+ การเตรียมอนุบาลลูกกุ้ง
เมื่อลูกกุ้งฟักเป็นตัวได้ 2 วัน เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 3 ก็ให้ลูกไรน้ำเค็มที่ฟักเป็นตัวเป็นอาหาร
+ การดูแลลูกกุ้งระหว่างการเพาะฟัก
ก. การทำความสะอาดบ่อเพาะฟัก หลังจากวันที่สามไปแล้วจะต้องทำการดูดตะกอนทำความสะอาดบ่อเพาะฟัก แล้วเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม หลังจากวันที่ 7 เมื่อเริ่มให้อาหารไข่ตุ๋นต้องทำความสะอาดดูดตะกอนวันละครั้ง ขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้
ข. การให้อาหาร ลูกกุ้งเมื่ออายุได้ 2 วัน อาหารที่ให้เป็นพวกไรน้ำเค็ม การให้ควรให้น้อย ๆ ประมาณ 4-5 ชม./ครั้ง เมื่อกุ้งกินไรหมดก็ให้เพิ่ม ลูกกุ้งจะกินไรจนมีอายุได้ 7 วันก็จะเริ่มให้อาหารไข่ตุ๋นโดยให้ทีละน้อย ๆ ฝึกให้ลูกกุ้งกินอาหารไข่ตุ๋นก่อน จนกระทั่งในเวลากลางวันให้ลูกกุ้งกินไข่ตุ๋นอย่างเดียว ส่วนในช่วงกลางคืนให้ลูกไรน้ำเค็มเป็นอาหาร
ค. การถ่ายน้ำ เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 7 ที่ให้อาหารสำเร็จรูป (ไข่ตุ๋น) ก็จะเริ่มทำการถ่ายน้ำ การถ่ายน้ำจะถ่ายประมาณ 30-50 % โดยการถ่ายน้ำจะถ่ายประมาณ 2-3 วัน/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำในบ่อเพาะกุ้งก้ามกราม
ง. การย้ายและคัดลูกกุ้งก้ามกราม ประมาณ 3 สัปดาห์ ลูกกุ้งจะเริ่มคว่ำเมื่อกุ้งในบ่อคว่ำได้ประมาณ 50 % จะทำการคัดลูกกุ้งที่คว่ำและไม่คว่ำออกจากกัน โดยคัดลูกกุ้งที่ยังไม่คว่ำออกและทำการอนุบาลต่อไปจนคว่ำหมดการอนุบาลลูกกุ้งหลังจากคว่ำ Juvenile การปรับน้ำเมื่อลูกกุ้งเริ่มคว่ำหมดจะปรับน้ำจืดลูกกุ้งหลังจากคว่ำแล้วประมาณ 1-2 วัน จะทำการย้ายไปอนุบาลต่อโดยการอนุบาลมี 2 แบบ
(1) การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ ใช้เวลาในการอนุบาลไม่เกิน 2 สัปดาห์ ความหนาแน่นที่ปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามประมาณ 2,000 ตัว/ตารางเมตร อาหารที่ใช้อนุบาลได้แก่ ไข่ตุ๋น หรืออาหารเม็ดสำเร็จรูปเมื่อทำการอนุบาลได้ประมาณ 7-14 วัน ก็จะทำการบรรจุถุงหรือถังนำไปปล่อยเลี้ยงต่อไป
(2) การอนุบาลในบ่อดิน ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยนำกุ้งก้ามกรามที่คว่ำได้ 2-3 วันมาอนุบาลในบ่อดินโดยทำการตากบ่อให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปรับความเป็นกรด-ด่าง ด้วยปูนขาวให้เหมาะสมแล้วนำน้ำเข้าบ่ออนุบาลระดับน้ำเริ่มแรกประมาณ 70 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ให้เกิดแพลงก์ตอนที่มีสีเขียวอ่อนหรือน้ำตาลอ่อนประมาณ 3-5 วันหลังใส่ปุ๋ย ก็นำลูกกุ้งไปปล่อยโดยปล่อยประมาณ 100,000 - 200,000 ตัว/ไร่ อาหารที่ใช่ช่วงแรกให้ไข่ตุ๋น แล้วเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ด หลังจากอนุบาลได้ 1-2 เดือน ก็ทำการย้ายไปเลี้ยงในบ่อดินอื่นต่อไป
 การลำเลียงลูกกุ้งก้ามกราม
การลำเลียงลูกกุ้งจากบ่ออนุบาล ไปยังย่อเลี้ยงมี 2 วิธี
1) การบรรจุใส่ถุงพลาสติก กรณีลำเลียงไปไกล ๆ ถ้าเป็นลูกกุ้งคว่ำได้ประมาณ 7 วัน ถ้าเวลาที่ใช้ลำเลียงไม่เกิน 4 ชม. จะบรรจุพลาสติกขนาด 16"x 16" ใส่น้ำประมาณ 4 ลิตร ใส่ลูกกุ้งประมาณ 2,000 ตัว อัดออกซิเจน ถ้าการลำเลียงใช้เวลามากกว่า 4 ชม. จะบรรจุถุงละ 1,000 ตัว ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ22-25 องศาเซลเซียส อาจะใช้น้ำแข็งผสมขี้เลื่อยวางที่พื้นรถระหว่างลำเลียงและถ้าลำเลียงในช่วงกลางคืนซึ่งอุณหภูมิต่ำกว่าในเวลากลางวันจ่วยให้อัตรารอดตายสูงขึ้น
2) การลำเลียงระยะใกล้อาจใช้ถังไฟเบอร์ หรือถังพลาสติกขนาดประมาณครึ่งตัน หรือ 1 ตัน อัตราใส่ประมาณ 100,000-200,000 ตัว/ถัง ใช้เวลาในการลำเลียงไม่ควรเกิน 1 ชม. และมีถังแก๊สออกซิเจนเพื่อให้ออกซิเจนแกลูกกุ้งในขณะลำลียง เมื่อลำเลียงถึงบ่อเลี้ยงก็นำน้ำจากบ่อมาใส่ในถังลำเลียงเพื่อปรับอุณหภูมิเสร็จแล้วใส่สายยางขนาด 1 นิ้ว ดูดลูกกุ้งลงบ่อเลี้ยง
 ปัญหาที่เกิดระหว่างการอนุบาล
+ คุณสมบัติของน้ำในระหว่างการอนุบาลกุ้งก้ามกราม บางครั้งน้ำอาจมีกลิ่น เนื่องจากให้อาหารมากเกินไป หรือการดูดตะกอนทำความสะอาดไม่ดี เศษอาหารเหลือตกค้างทำให้เกิดก๊าซ เช่น แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งอ่อนแอ
+ อาหารและการให้อาหาร อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพและในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะการให้อาหารมากเกินไปจะทำให้น้ำเสียง่าย และเป็นสาเหตุให้กุ้งเป็นโรค
+ ความสกปรกของโรงเพาะฟัก เมื่อทำการฟักเป็นระยะเวลานานแล้วไม่ทำความสะอาด
+ โรคกุ้งซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมในบ่อเพาะฟักไม่เหมาะสม หรือการจัดการไม่ดีพวกปริสิตและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มักพบเกิดกับลูกกุ้งได้แก่
- พวกไฮโดรซัย เช่น Obelia
- พวกโปรโตซัว เช่น Zoothamnium sp.,Epistylis sp,. Vorticella sp., Acienta sp., Tokophrya sp.
- พวกแบคทีเรีย เช่น Vibrio sp., Aeromonas sp., Pseudomonas sp., Leucethrix sp.
- พวกรา เช่น Leginidium sp., Fusarium sp.
- พวกไวรัส เช่น MBV, BP, BMN
- พวก Red tide เช่น Gymmodinium sp., Gonelas sp., Noctiluca sp.


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=102

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.