Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

การเลี้ยงกุ้งทะเล
29/7/2546 15:46:47, by
ประจวบ หลำอุบล

 การเลี้ยงกุ้งทะเล 
จากหนังสือเสวนาวิชาการเรื่อง กุ้ง  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ประจวบ   หลำอุบล


      การเลี้ยงกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำมีผลผลิตมากกว่า 50% ของผลผลิตกุ้งทั่วโลก และนับวันจะขยายเพิ่มขึ้น พร้อม ๆ กับปรับปรุงคุณภาพกุ้งให้มีสุขภาพดี สามารถผลิตลูกพันธุ์ดีเพื่อการเลี้ยงในบ่อดินต่อไป หลายประเทศยังคงจับลูกกุ้งตามธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อดิน (Maugle, 1993) การเลี้ยงกุ้งทะเลบริเวณชายฝั่งได้ขยายพื้นที่การเลี้ยงขึ้นไปในพื้นดินที่ห่างไกลจากทะเลมากขึ้น ความจำเป็นในการหาลูกพันธุ์มาเลี้ยงทดแทนการจับจากทะเลเพิ่มขึ้น จึงมีโรงเพาะฟักเกิดขึ้นมากมาย การเลี้ยงกุ้งทะเลแบ่งเป็น 2 กลุ่มประเทศตามภูมิอากาศ คือ กลุ่มประเทศทางตะวันตกชนิดของกุ้งที่เลี้ยงคือกุ้งขาวตะวันตก กุ้งน้ำเงิน ซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ประเทศบราซิล เอกวาดอร์ ไนจีเรีย ปานามา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เวเนซุเอลลา จะมีผลผลิตรวมประมาณ 21% จำนวน 171,500 เมตริกตัน ในขณะที่ทางซีกตะวันออกมีผลผลิตรวม 79% ได้แก่ ประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียตนาม ไต้หวัน ชนิดของกุ้งที่เลี้ยงคือ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาวจีน กุ้งขาวเอเซีย กุ้งคูรุม่า

การเลี้ยงกุ้งกุลาดำของประเทศไทย
          ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตตะวันออกของโลก การเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีผลผลิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปี ผลผลิตเคยสูงสุด 240,000 เมตริกตัน ในปี ค.ศ. 1994-1995 และผลผลิตเริ่มลดลงมีจำนวนประมาณ 200,000 เมตริกตันในปี 1999 จำนวนฟาร์ม (บ่อดิน) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ 500,000 ไร่ มากกว่า 20,000 ฟาร์ม ต้องใช้คนงานมากกว่า 100,000 คน (Tavarutmanakeel and Tookwinas, 1995)
          การเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ (extensive) หมายถึงการเลี้ยงกุ้งเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก โดยการขยายพื้นที่ตามบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ที่มีน้ำขึ้น-ลงถึง มีมานานหลายสิบปี เนื่องจากชายฝั่งทะเลของประเทศไทยที่มีความยาว 2,760 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีแหล่งกำบังคลื่นลมอุณหภูมิอบอุ่น ไม่เย็นหรือร้อนจัดเกินไป คลื่นลมทั่วไปสงบ ยกเว้นในฤดูที่มีลมมรสุม เริ่มทำการเลี้ยงกุ้งในบริเวณนาข้าวเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำทะเลท่วมถึงพร้อมทั้งนำเอาลูกพันธุ์กุ้ง-ปลาเข้ามาด้วยเมื่อน้ำลด กุ้งปลาที่ตกค้างอยู่ในนาก็เจริญเติบโตดี เจ้าของสามารถนำมาบริโภคและจับขายได้มากขึ้น จึงมีการปรับปรุงพื้นที่นาเดิมให้ลึกและเหมาะสำหรับเลี้ยง และจับลูกพันธุ์จากธรรมชาติมาเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า การเลี้ยงกุ้งแบบกึ่งธรรมชาติ (sem intensive) ชนิดของกุ้งที่เลี้ยงในขณะนั้นคือกุ้งขาว (Penaeus merguiensis และ Penaeus indicus) กุ้งตะกาด (Metapenaeus monoceros และ W. ensis) เป็นหลัก
          ต่อมาปี พ.ศ. 2525 กรมประมงเริ่มมีการเพาะฟักกุ้งกุลาดำ (Penacus monodon) ได้สำเร็จ ได้แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วไปสามารถทำได้ จึงเกิดการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา (intensive) ขึ้นมาประมาณปี พ.ศ. 2527 การเลี้ยงแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยไม่มีการขยายพื้นที่แต่เพียงอย่างเดียว ด้วยการนำลูกพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงได้ไปปล่อยในบ่อดิน จำนวนตัวต่อตารางเมตรหนาแน่นมากขึ้น สมัยแรก ๆ ปล่อยกุ้งในอัตรา 30 ตัวต่อตารางเมตร มีการเตรียมน้ำ ติดตั้งใบพัดเพื่อให้น้ำหมุนเวียนก่อนปล่อยกุ้ง และเมื่อปล่อยกุ้งมีการให้อาหารวันละ 3-4 ครั้ง ไม่ใช่ปล่อยธรรมชาติเหมือนเดิม หลักการต่าง ๆ นำมาจากไต้หวัน ซึ่งรับวิธีการเลี้ยงกุ้งคูรุม่า จากประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถเลี้ยงกุ้งคูรุม่า (Penaeus japonicus) เพื่อการค้าได้ โดย ดร.ฟุจิ นากา ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกงานเพาะเลี้ยงกุ้งที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 13 เดือน
          การเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเริ่มขึ้นในปี 2528-2529 ในภาคกลางบริเวณ 3 สมุทรของไทย คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ พื้นที่ของ 3 จังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับอ่าวไทยตอนบน บริเวณนี้เดิมเคยเป็นพื้นที่มีการเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติและการทำนาเกลืออยู่ก่อน การปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นนากุ้งแบบพัฒนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการนำวิธีการสร้างบ่อ ประตูระบายน้ำเข้าออกและวิธีการเลี้ยงแบบไต้หวันได้ผลผลิตสูง กุ้งราคาดี เกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นมากมายภายในระยะเวลา 6 เดือน จึงเป็นสาเหตุจูงใจให้มีการขยายพื้นที่การเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการวางแผนและจัดระบบการใช้น้ำล่วงหน้า ใครมีเงินมากก็จัดหาอุปกรณ์ที่มีกำลังสูงสูบน้ำเข้านาตัวเองให้มากที่สุด และปล่อยน้ำจากนาทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยไม่มีการบำบัดน้ำก่อนทิ้ง และมีการใช้ยาปฏิชีวนะตามการเลี้ยงสัตว์บกทั่วไป โดยไม่มีเวลาศึกษายากับสัตว์น้ำมาก่อน และลืมนึกถึงว่ายาเมื่อลงน้ำจะเหลือยาให้ออกฤทธิ์รักษากุ้งได้หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการใช้สารเคมีทุกประเภทเพียงเพื่อบำบัดน้ำ ให้มีคุณภาพดี เพราะพูดกันว่าการเลี้ยงกุ้ง คือ การเลี้ยงน้ำ ใส่สารเคมีลงน้ำโดยลืมกุ้ง ผลที่เกิดขึ้นในปี 2532 ภายหลังการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาได้เพียง 3 ปี ก็คือการล่มสลายของนากุ้งบริเวณ 3 สมุทร การเลี้ยงก็เคลื่อนย้ายไปทางภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และมากขึ้น มีการใช้วิชาการและขบวนการเลี้ยงพัฒนากว่าเดิม ทำให้การเลี้ยงมีผลผลิตสูงและต่อเนื่องยาวนาน พร้อม ๆ กับการเลี้ยงในเขตตะวันออก ได้มีการยายพื้นที่การเลี้ยงลงมาทางภาคใต้ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายทะเลเป็นระยะทางยาว ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จนปัจจุบันนี้ พ.ศ. 2543 คาดว่าพื้นที่การเลี้ยงกุ้งของไทยจะกำหนดอยู่ที่ 500,000 ไร่ (สถิติกรมประมง) และพื้นที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นนากุ้งกันมากขึ้น ผลผลิตกุ้งจากการเลี้ยงปี พ.ศ. 2542 อยู่ที่ 200,000 ตัน มีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท
            Hembrey and C.K. Lin ได้สรุปสภาพการณ์เลี้ยงกุ้งของประเทศไทย (จาก http:/www.agri-aqua ait.ac.th/reading/Jhmexico.html.) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1. สาเหตุของการลดลงของพื้นที่และปริมาณการเลี้ยงกุ้งบริเวณอ่าวไทยตอนใน
       การถดถอยของการเลี้ยงกุ้งในบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ 3 สมุทร มาจากสาเหตุหลายประการเกี่ยวโยงกัน คือ
1. ชายฝั่งเป็นพื้นดินโคลนติดต่อกันยาว ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร มีคลองซอยแยกจากทะเลเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงจำนวนมาก และไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้
2. เกิดมลภาวะจากการเลี้ยงที่ไม่มีการวางแผนการใช้น้ำมาก่อนทั้งน้ำเข้าและการระบายน้ำออก
3. มลภาวะจากน้ำที่ไหลลงมาเนื่องจากการเกษตรทั้งพืชและสัตว์รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมด้วย
4. ควบคุมความเค็มไม่ได้ เนื่องจากฤดูกาลเวลาน้ำหลากจากแม่น้ำและคลองซอย
5. ขาดประสบการณ์และความรู้ เนื่องจากการเลี้ยงเกิดขึ้นและตามอย่างกันอย่างรวดเร็ว
2. ประสบการณ์ที่นำมาใช้ในภาคตะวันออก
        แม้ว่าการเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออกของไทยจะนำประสบการณ์ความล้มเหลวของภาคกลางมาปรับปรุงแก้ไขและเสริมเข้ากับประสบการณ์ของผู้เลี้ยง แต่ก็ยังมีน้อย ทำให้เกิดปัญหาที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะ
- พื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ยังคงเป็นพื้นโคลน, ป่าชายเลน, น้ำกร่อย ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง
- ความเค็มแตกต่างในช่วงกว้างอาจจะถึงศูนย์ในฤดูฝนและเค็มถึงเกือบ 40 ส่วนในพัน ในฤดูร้อน
- ป่าชายเลน พื้นดินกรด
- ความเป็นกรดสูง (pH ต่ำ) มีเหล็กและอลูมิเนียมสูง
- ย่าฆ่าแมลงจากสวนผลไม้ไหลลงน้ำ
- ประสบการณ์จำกัด ไม่เพียงพอ
3. การเลี้ยงในภาคใต้จากประสบการณ์ที่ดีกว่า
          จากประสบการณ์ภาคตะวันออกที่ปรับปรุงมาจากภาคกลาง ผสมกับประสบการณ์และความชำนาญที่มากขึ้นในภาคตะวันออกรวมกัน นำไปปรับปรุงทั้งวิธีการจัดการและการเลี้ยงในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ อ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ความสำเร็จสูงในหลายพื้นที่แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องและข้อควรคำนึงหลายประการ คือ
- พื้นดินมีสภาพดีกว่า ส่วนมากปรับเปลี่ยนจากนาข้าว สวนมะพร้าว และพื้นดินหลังป่าชายเลน
- ชายฝั่งแนวยาวติดกับทะเลเปิด คลื่นลมแรง น้ำลึกกว่า
- ความแตกต่างของน้ำขึ้นและน้ำลงมีช่วงกว้างระดับอาจจะมากกว่า 2 เมตร โดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน
- มีมลภาวะจากแม่น้ำลำคลองน้อย
- มีประสบการณ์และรู้ข้อผิดพลาด สามารถปรับปรุงได้มากขึ้น
         แม้ว่าจะมีการเรียนรู้และประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำมั่นคง และมีผลผลิตที่ยั่งยืนได้

ชื่อประวัติของกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon Fabricius, 1798)
ชื่อสามัญ เรียกแตกต่างกันมาก มีหลายชื่อ เช่น Jumbo tiger prawn, Giant tiger prawn, Blue tiger prawn, Leader prawn, Panda prawn (Australia), Giant tiger prawn (F.A.O.)
ชื่อพ้อง Penaeus caelureus Racek, 1955.
Penaeus coruleus Stebbing, 1905
Penaeus Darinatus Racek, 1955, 1959
Penaeus bubulus Kubo, 1949
ลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิด
      ลำตัวมีแถบสีพาดขวาง แบ่งเป็นข้อปล้องชัดเจน สันที่ส่วนหลังของกรี (postrostral ridge) ไม่มีร่องกลาง สันที่เฮพพาติดยาว โค้ง
      สีขณะที่มีชีวิต กุ้งกุลาดำโตเต็มวัย ลำตัวสีเข้ม (น้ำตาลเข้ม) ส่วนของเปลือกคลุมหัวและลำตัวด้านบน มีแถบสีอ่อนพาดขวางสลับกับแถบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำตลอดตัว ส่วนที่เหลือสีน้ำตาลอ่อนสลับกัน ในวัยรุ่นหรือยังไม่โตเต็มที่อาจเป็นสีฟ้าอมน้ำเงิน หรือมีลายขวางตลอดลำตัว

 

       การแพร่กระจาย กุ้งกุลาดำพบแพร่กระจายทั่วไปในเขต Indo-west Pacific ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา อินเดีย ปากีสถานถึงประเทศญี่ปุ่น หมู่เกาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกีนีถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย ออสเตรเลียถึงตอนเหนือของอ่าวมอริตัน ประเทศควีนสแลนด์ ประเทศไทย
      ที่อยู่อาศัย (habitat) กุ้งกุลาดำโตเต็มวัยชอบอาศัยพื้นดินโคลน โคลนปนทรายในทะเลลึก วัยอ่อนเป็นแพลงก์ตอนว่ายน้ำได้อย่างอิสระ วัยรุ่นเคลื่อนย้ายเข้าสู่ชายฝั่งเพื่อเลี้ยงตัว และเดินทางกลับสู่ทะเลเมื่อโตเต็มวัย เพื่อผสมพันธุ์
ขนาด กุ้งกุลาดำ เป็นกุ้งที่มีขนาดโตมากที่สุดยาวถึง 36.3 เซนติเมตร (363 มิลลิเมตร) จึงได้สมญานาม จัมโบ้ หรือ ไทเกอร์ ตามปรกติกุ้งเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้
การสืบพันธุ์
        กุ้งมีอวัยวะเพศภายนอกมองเห็นได้ชัดเจน และสามารถใช้ลักษณะความแตกต่างของอวัยวะเพศในการจำแนกชนิดได้ อวัยวะเพศผู้ เรียก พีแตสม่า (petasma) เกิดจากการเปลี่ยนแขนงอันในของขาว่ายน้ำคู่แรก ทั้ง 2 ข้างเชื่อมติดกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นอวัยวะเพศผู้ อวัยวะเพศเมียเรียก ทีไลคัม (thelycum) เกิดจากการเปลี่ยนผนังด้านท้อง (sternal plate) ของระยางค์ส่วนอกปล้องที่ 7 และ 8 หรือตรงกับขาเดินคู่ที่ 4-5 พัฒนาเป็นถุงสำหรับรับน้ำเชื้อ
       วัยเจริญพันธุ์ (maturation) หมายถึง รังไข่หรืออวัยวะที่ใช้ในการผสมพันธุ์พัฒนาเต็มที่ในการผลิตไข่ (egg) หรือน้ำเชื้อ (sperm) พร้อมที่จะผสมพันธุ์ โดยใช้อวัยวะภายนอกในพวก "penaeids" เพศผู้ (petasma) และเพศเมีย (thelycum) เมื่อลอกคราบเพื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อวัยวะเพศทั้ง 2 เพศ เจริญดีแล้ว การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายหลังจากตัวเมียลอกคราบใหม่
พ่อ-แม่พันธุ์ (broodstock)
แม่พันธุ์
        ตามการศึกษาของ Motoh (1981) กุ้งกุลาดำเพศเมียจากทะเล (wild) ที่มีความยาวเปลือกคลุมหัว (carapace) วัดจากมุมตาทะแยงไปถึงขอบหลังของเปลือกคลุมหัว 47 มิลลิเมตร ทีไลกัมจะพัฒนารูปร่างเรียบร้อยแล้ว พร้อมเป็นที่รองรับถุงน้ำเชื้อจากตัวผู้ได้ ส่วนตัวเมียจากบ่อเลี้ยงความยาวของเปลือกคลุมหัวจะเล็กกว่า อยู่ที่ 39 มิลลิเมตร
ระยะเวลาการพัฒนาของรังไข่ กุ้งกุลาดำ Motoh (1981) แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำลังพัฒนาจะเป็นเป็นแถบยาวบางตั้งแต่หัวจรดหาง ระยะที่ 2 ไข่ใกล้สุก (ripe) แถบไข่เป็นแถบหนาทึบมองเห็นชัดเจน ระยะที่ 3 ไข่สุก แถบไข่หนาทึบโดยเฉพาะที่ปล้องที่ 1 จะแผ่เป็นปีกออกทั้ง 2 ข้างชัดเจน ระยะที่ 4 วางไข่ (spent) สอดคล้องกับการศึกษาทางเนื้อเยื่อของ Tan-Fermin and Pudadera (พิมพ์โรเนียว) แบ่งระยะของรังไข่เป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 previtellogenic stage ระยะที่ 2 vitellogenic stage ระยะที่ 3 cortical rod stage และระยะที่ 4 spent stage ไข่กุ้ง oocytes มี yokl หรือ cortical rod
พ่อพันธุ์
        กุ้งกุลาดำเพศผู้เมื่อพีแตสม่า เชื่อมติดกันและปลายมีลักษณะคล้ายตะขอ พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ ความยาวของเปลือกคลุมหัว ประมาณ 34 มิลลิเมตร (Motoh, 1981) กุ้งกุลาดำตัวผู้จะมีน้ำเชื้อสมบูรณ์พร้อมผสมได้ตั้งแต่เปลือกคลุมหัว ยาว 31 มิลลิเมตร ในกุ้งบ่อดินและ 37 มิลลิเมตร ของกุ้งทะเล แต่ สเปิร์มมีเฉพาะส่วนของบอดี (body) โดยไม่มีหางหรือ spike Primavera (1978) รายงานว่ากุ้งตัวผู้สามารถผสมได้เมื่อมีน้ำหนักตัว 40 กรัมขึ้นไปทั้งจากบ่อดินและจากทะเล
การจับคู่ (mating)
        อวัยวะเพศเมียของกุ้งกุลาดำเป็นระบบปิด (closed thelycum) จึงต้องมีการจับคู่ผสมเพื่อย้ายถุงน้ำเชื้อจากตัวผู้ไปสู่ตัวเมีย หลังจากตัวเมียลอกคราบ ก่อนการผสมกุ้งตัวผู้เปลือกแข็ง 1-3 ตัว จะว่ายวนกุ้งตัวเมียลอกคราบใหม่ คล้ายเกี้ยวพาราสี (Primavera, 1979) เมื่อตัวผู้สามารถทาบตัวเมียในตำแหน่งตรงกัน ก็จะว่ายน้ำคู่ขนานกันไปชั่วระยะ เมื่อตัวผู้อยู่ในระดับตรงกับตัวเมีย ตัวผู้จะพลิกตัวเปลี่ยนตำแหน่งจากคู่ขนาน เป็นงดตัวรัดตัวเมียแบบตัวยู ยกส่วนหัวและปลายหางพร้อม ๆ กับสอดใส่ถุงน้ำเชื้อ (sperm sac) เข้าสู่ทีไลคัม
        การจับคู่ผสมไม่ต้องการน้ำปริมาณมากหรือน้ำลึก สามารถจับคู่ผสมได้ในถังเล็กและน้ำตื้น (Primavera, 1979 ; Poernomo and Hamami, 1983) แสงน้อยหรือมือ (Aquacop, 1980) ความเค็มไม่มีผลต่อการจับคู่ผสม เพราะว่าตัวเมียไม่ว่าจะมาจากแหล่งน้ำกร่อย ในบ่อดินก็สามารถรับถุงน้ำเชื้อได้ภายหลังลอกคราบ
        การผสม (fertilization) การผสมระหว่างไข่กับน้ำเชื้อที่แม่กุ้งจากบ่อเลี้ยงปล่อยออกมา (spawn) จะได้รับการผสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับน้ำเชื้อของตัวผู้มาจากบ่อดินหรือมาจากทะเล การล้มเหลวหรือไม่ผสมของไข่ที่เกิดขึ้นก็คือ ไข่ไม่ฟักเป็นตัว หรือการสอดใส่ถุงน้ำเชื้อไม่เข้า อัตราการฟักจะลดลงจาก 96% จนถึง 0% ภายหลังการตัดตา 10 วัน (Muthu and Laxminarayana. 1977)
        ถ้าการจับคู่เองของพ่อ-แม่พันธุ์จากบ่อเลี้ยงไม่สำเร็จ ต้องการผสมเทียม ด้วยการดึงเอาถุงน้ำเชื้อจากตัวผู้ออกมา อาจจะใช้ไฟฟ้าหรือใช้มือก็ได้ นำถุงน้ำเชื้อมาใส่ให้ตัวเมีย ภายหลังการลอกคราบ อัตราการฟักจะต่ำสุดเพียง 2.4% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71.7% และ 82.35% ด้วยการใส่ถุงน้ำเชื้อ 1 และ 2 ตามลำดับ (Lih and Ting, 1966)
แหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์ (broodstock)
        พ่อแม่พันธุ์อาจจะมาจากทะเลตามธรรมชาติ หรือมาจากบ่อเลี้ยง จะมีอัตราฟักสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ สภาพความสมบูรณ์ Aquacop (1983) รายงานไว้ว่าการเลี้ยงกุ้งให้เป็นพ่อแม่พันธุ์นั้น ควรจัดการแบ่งบ่อเลี้ยงออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 9-12 เดือน ปล่อยกุ้งจำนวน 1-2 ตัวต่อตารางเมตร ลดจากเดิม อายุ 4-8 เดือน เลี้ยง 10-20 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารสำเร็จรูปและอาหารสดสลับกัน การตัดตาจะเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 5 เดือน (Primavera, 1978) ถึง 15 เดือน (Santiago, 1977) แม่พันธุ์จากบ่อเลี้ยงสามารถวางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนและพัฒนาถึงโพสต์ลาวาได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน (Mellamena et. al., 1986)
         แม้ว่ากุ้งจากบ่อเลี้ยงสามารถที่จะวางไข่ฟักเป็นตัวอ่อนที่มีคุณภาพ เป็น "ศิลปะ" ที่ยากกว่าการใช้แม่พันธุ์จากทะเล (wild) เหตุผลแรก การจัดการบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้ง 3-4 เดือน จับขายและเลี้ยงรุ่นใหม่ ประการที่ 2 การใช้พ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติใช้เวลาน้อยเพียง 4-8 สัปดาห์ ในขณะที่พ่อแม่พันธุ์จากบ่อเลี้ยงต้องใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ ประการสุดท้าย กุ้งบ่อเลี้ยงต้องใช้ทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงและอัตรารอดยังต่ำมาก ไม่คุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์
การขนส่งพ่อแม่พันธุ์
        การขนส่งพ่อแม่พันธุ์ ทำได้โดยการใช้ถังหรือถุงพลาสติกหนาบรรจุน้ำทะเล ให้อ๊อกซิเจนและทำให้อุณหภูมิต่ำด้วยการใช้น้ำแข็งบรรจุถุง ถ้าระยะทางขนส่งแม่พันธุ์กุ้งไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถัง 1 ตัน อาจขนได้จำนวน 400 ตัว ถ้าระยะทางยาวขึ้น จำนวนตัวควรจะลดลง เมื่อมาถึงที่ทดลองควรฆ่าเชื้อด้วยฟอร์มาลิน 25-30 ส่วนในล้าน และเลี้ยงไว้ประมาณ 7 วัน ถ้าไม่มีกุ้งตายแสดงว่ากุ้งคืนสภาพเป็นปกติ แข็งแรงดี สามารถนำไปจับคู่ผสมได้
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
       ในบ่อเลี้ยงพ่อแม่ ควรปล่อยกุ้งหนาแน่นประมาณ 2-7 ตัวต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ น้ำหนักของตัวกุ้งหรือโดยเฉลี่ยน้ำหนักกุ้งควรจะอยู่ที่ 300-400 กรัมต่อตารางเมตร (Primavera, 1985)
อัตราส่วนระหว่างตัวผู้และตัวเมีย 1:1 หรือถ้าจะใช้ตัวเมียมากกว่าก็ได้ ถึงอัตราระหว่างตัวผู้ : ตัวเมีย เท่ากับ 1:1.5 ถึง 3

การกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้กุ้งถึงวัยเจริญพันธุ์
        การเลี้ยงกุ้งพีนีอิดในบ่อหรือในพื้นที่จำกัด มี 3 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ คือ ฮอร์โมน (endocrine) ทำด้วยการตัดตา อาหาร และสภาพแวดล้อม ปัจจุบันทำกันมากคือการบีบหรือตัดตา ส่วนอาหารและสภาพแวดล้อม ยังไม่มีรายงานโดยเฉพาะ
        การตัดตา (eye ablation) การตัดตาของพวกเดคาพอด ก็คือการทำลาย X-organ และ sinus gland ซึ่งเป็นที่เก็บและผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญของรังไข่ (gonad inhibiting hormone) (Adiyodi and Adiyodi, 1970) สำหรับกุ้งกุลาดำการตัดตาทำได้หลายวิธี อาจจะใช้กรรไกรตัด หรือใช้มือบีบตาและรีดก้านตาเป้าหมายเพื่อให้ของเหลวในก้านตาสูญเสียไป ตัวเมียเมื่ออายุ 8-10 เดือน สำหรับบ่อดินมีน้ำหนักประมาณ 80-90 กรัม ที่สุขภาพดีและเปลือกแข็ง ตัวเมียต้องไม่มีร่อยรอยของการถูกผสม ดูได้จากอวัยวะเพศเมียต้องไม่บวม หรือมีสีขาวขุ่น ซึ่งหมายถึงมีถุงน้ำเชื้อของตัวผู้ค้างอยู่ การตัดตาไม่ว่าจะข้างเดียวหรือ 2 ข้าง โอกาสที่กุ้งจะติดเชื้อจากน้ำได้ง่าย (Santiago, 1971) ถึงแนะนำให้ตัดตาเพียงข้างเดียว จะเร่งให้กุ้งกุลาดำเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ดีกว่าการตัดตาทั้ง 2 ข้าง
อัตราการรอดตายของกุ้งตัดตา 2 ข้าง ตัดตาข้างเดียว และไม่ตัดตาเลย อยู่ที่ 0%, 38% และ 49% ตามลำดับ เมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 196 วัน (Santiago, 1977) การตัดตาถ้าทำหลังการลอกคราบ (postmolt) จะทำให้กุ้งตายมากกว่าทำระยะระหว่างรอลอกคราบ (intermolt) แต่ถ้าตัดตาก่อนการลอกคราบ (permolt) จะทำให้ระยะการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าไป 2-4 สัปดาห์ (Aquacop, 1979 : Primavera et. at., 1979) การลอกคราบมีระยะเวลาต่างกันขึ้นอยู่กับอายุ ระยะการลอกคราบ แหล่งที่มาของพ่อ-แม่พันธุ์ และเวลาในการตัดตา กุ้งที่มาจากป่าชายเลน ยังเป็นกุ้งก่อนวัยเจริญพันธุ์ ต้องมาเลี้ยงต่อ 40 วัน จึงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่อทำการตัดตาสามารถวางไข่ได้ใน 69 วันต่อมา (Hillier, 1964) เทียบกับกุ้งที่มาจากชายฝั่งทะเลใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น (Primavera and Borlongan, 1978 : Simon, 1982) ใกล้เคียงกับกุ้งธรรมชาติที่จับชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ภายหลังการตัดตา 4-5 วันสามารถวางไข่ได้ ในขณะที่แม่กุ้งจากแหล่งน้ำกร่อยจากทะเลสาบจังหวัดสงขลาของไทยใช้เวลา 20-30 วัน (Ruangpanit et. al., 1985) สันนิษฐานว่าความเค็มน่าจะเป็นปัจจัยแปรที่ทำให้ระยะของการวางไข่ล่าช้าออกไป
          จำนวนครั้งของการวางไข่และการลอกคราบของแม่กุ้งที่ตัดตาและไม่ตัดตาแตกต่างกัน จากการตัดตามีจำนวน 6 ครั้ง ในขณะที่ไม่ตัดตาเพียง 3 ครั้งเท่านั้น (Beard and Wickins, 1980 : Hilliver, 1984 และ Emmeoon, 1983) แม่กุ้งที่ถูกตัดตา ความดกของไข่จะมีปริมาณลดลง อัตราการฟักต่ำลง
อาหารของแม่พันธุ์กุ้ง
          อาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ได้แก่ พวก หอย รวมทั้งปลาหมึก หอย 2 ฝา หอยแมลงภู่ อาจจะใช้สลับกับอาหารเม็ด ซึ่งเตรียมพิเศษ มีปริมาณโปรตีนสูง 60% แม่พันธุ์จากธรรมชาติ 85% กินพวก ปู กุ้ง ขนาดเล็ก และหอยเป็นอาหาร (Marte, 1980) ปริมาณอาหารที่ให้ 3.5% น้ำหนักแห้งต่อน้ำหนักตัวกุ้งหรือ 10-30% สำหรับอาหารสด ให้อาหารวันละ 1-3 ครั้ง กุ้งตัวเมียจะกินอาหารได้มากกว่ากุ้งตัวผู้
ความต้องการทางโภชนาการของกุ้ง
          ความต้องการไขมัย (lipid) กุ้งจากธรรมชาติก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ตัวเมียมีความต้องการไขมัยเพิ่มขึ้นจาก 5.8 เป็น 17.0% และจาก 7.5 เป็น 21.9% ในกุ้งที่ไม่ตัดตาและตัดตา ตามลำดับ (Millamena et. at., 1985)

ลักษณะของรังไข่ 4 ระยะภายหลังการผสมพันธุ์ สามารถมองทางด้านหลังได้
(ดัดแปลงจาก Primavera, 1983)
ระยะที่ 1 หรือ 5 เป็นระยะที่ยังไม่พัฒนาหรือหลังจากวางไข่แล้ว รังไข่จะแฟบบางใส มองจากด้านหลังเห็นเพียงเส้นจาง ๆ ขนานไปกับลำไส้
ระยะที่ 2 กำลังพัฒนา รังไข่เหี่ยวยาน สีขาวขุ่นถึงเขียวเข้ม มองเห็นเป็นแถบยาวชัดเจน
ระยะที่ 3 เกือบแก่ หรือ เกือบสุก แถบรังไข่ขยายใหญ่ขึ้นมองเห็นชัดเจน ที่ปล้องแรกแผ่ออก 2 ข้าง ส่วนด้านหน้าใต้เปลือกมีหลายขดซ้อนทับกัน
ระยะที่ 4 ไข่แก่ หรือ ไข่สุก รังไข่ขยายใหญ่ โดยเฉพาะที่ปล้องแรกจะขยายแผ่ลงถึงด้านข้างตัว สีเขียวเข้ม ขยายออกจนดูเหมือนเต็มพื้นที่ด้านหลัง พร้อมที่จะวางไข่ในคืนนั้นในกรณีที่รังไข่มีสีเขียวเข้มไม่ต่อเนื่อง ขาดเป็นช่วง ๆ อาจจะเป็นตัวที่ปล่อยไข่ออกไปแล้วบางส่วน แสดงว่าวางไข่ไม่หมดฝัก

รูปร่างลักษณะและการพัฒนาของวัยอ่อน
           เอมบริโอ (embryo) ไข่มีลักษณะกลม สีเหลืองอมเขียว มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.27-0.31 มิลลิเมตร เฉลี่ย 0.29 มิลลิเมตร ไข่จม ไข่ที่ได้รับการผสมจะแบ่งตัวเป็น 2, 4 เซลล์ แบ่งเป็น 2 เท่าจนกระทั่งระยะ embryonic nauplius ภายในเปลือกไข่กินเวลาประมาณ 11-12 ชั่วโมง จึงฟักออกเป็นตัว
          วัยอ่อน (larva) ระยะวัยอ่อนระยะแรก เรียก nauplius มี 6 ระยะลอกคราบ 6 ครั้ง ใช้เวลา 1.5-2 วันเมื่อกุ้งผ่านระยะ mysis แล้ว เข้าสู่ระยะ postlarva อายุ 1 วัน และนับจำนวนวันไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะที่ postlarva มีอายุ 15 วัน จะเปลี่ยนนิสัยจากลอยผิวน้ำ เหมือนแพลงก์ตอนทั่วไปปรับตัวลงสู่พื้นดิน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น (juvenile) เป็นระยะที่เกษตรกรซื้อกุ้ง P15 ไปเลี้ยงในบ่อดินประมาณ 3-4 เดือน มีขนาดที่ตลาดต้องการ

ประวัติศาสตร์การเลี้ยงกุ้งหรือการทำฟาร์มกุ้ง (Shrimp farming) (จาก World Shrimp Farming 1999)
การเลี้ยงกุ้งเกิดขึ้นครั้งแรก ค.ศ. 1930 เมื่อ Motosaku Fujinaga จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว สามารถทำให้กุ้งคูรุม่า (Penaeus japonicus) วางไข่ ฟักเป็นตัว และเลี้ยงจนได้ขนาดที่ตลาดต้องการได้ในห้องปฏิบัติการและสามารถทำเป็นการค้าปริมาณมาก ๆ ได้ Fujinaga ได้ทดลองและเผยแพร่ผลงานของตัวเอง ค.ศ. 1935, 1941, 1942 และ 1967 จนได้รับรางวัลจากพระจักรดิ์ญี่ปุ่นว่าเป็นบิดาของการเลี้ยงคูรุม่า (Father of Inland Japonicus Farming) ปี 1954 ได้รับปริญญาเอก จาก Research Bureau of the Japanese Fisher Agency ดร.ฟูจินากา จึงลาออกและไปทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และได้รับเกียรติให้เป็นบิดาแห่งการเลี้ยงกุ้ง "Father of Modern Shrimp Farming" และในปี 1960 ฟาร์มเลี้ยงกุ้งคูรุม่าเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น

1950-1965
        แม้ว่าระหว่างปี 1950-1965 ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรกที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ แต่ผลผลิตไม่ได้อยู่อันดับต้น ๆ
ปี 1950 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งห้องปฏิบัติการที่ Galveston มลรัฐเท็กซัสและกลายเป็นสถานที่ที่เป็นผู้นำทางด้านเทคนิคการเพาะลูกกุ้ง การเลี้ยงแพลงก์ตอน และปี 1958 ได้เป็นผู้นำทางด้านโรงเพาะฟัก "Galveston Hatchery Technology"

1965-1975
        ซีกโลกตะวันออก นักวิทยาศาสตร์จากฝรั่งเศส จีน ไต้หวัน เริ่มสนใจการทำนากุ้งตั้งแต่ปลาย 1960-1970 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสที่ Centre Oceanologique Pacifique in Tahiti ซึ่งอยู่ทางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกุ้งพีนิอิดหลายชนิด เช่น Penaeus japonicus, Penaeus monodon, Penaeus stylivestris และ Penaeus vannavmei ซึ่งเป็นชนิดกุ้งซีกตะวันตก ประสบความสำเร็จในการผสมกุ้งในบ่อเลี้ยง คือ General Charles Charles De Gaulle เป็นพรสซิเด้นของฝรั่งเศสในขณะนั้น เป็นผู้ตัดสินใจจัดหาอุปกรณ์ในตาฮิติ
ส่วนประเทศจีน ยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของชาวโลก จนกระทั่ง ค.ศ. 1980 สถานีประมงที่ Yellow Seas Fishery Research Station ได้ค้นพบวิธีการเลี้ยงกุ้งขาวจีน Penaeus chinensis ให้ปริมาณมาก เลี้ยงแบบ semi-intensive ทางตอนเหนือของจีน ส่วนในไต้หวันนักวิจัยของ Tungkang Marine Laboratory ได้ทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำในบ่อขนาดเล็ก ปรับปรุงเทคนิคเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา
         ในประเทศสหรัฐอเมริกา Department of Commerce's (DOC) National Marine Fisheries Service ซึ่งควบคุม Galveston Lab และ DOC ให้ทุนกับนักวิจัยของ National Sea Gram College Program เพื่อวิจัยเกี่ยวกับการทำฟาร์มกุ้งหลายมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัย Texas A& M จึงทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำทางวิชาการในการเลี้ยงกุ้งขาวตะวันตก และการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสที่มหาวิทยาลัยอริโซนา
เทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำฟาร์มกุ้ง (shrimp farming) ค่อย ๆ คืบหน้าและมีความร่วมมือกันมาก มีบริษัทผลิตอาหาร เป็นผู้นำเทคโนโลยีไปสู่ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ประเทศฮอนดูรัส ปานามา และเอกวาดอร์ และมีนายทุนท้องถิ่น เข้าร่วมในการสร้างฟาร์มกุ้ง โรงเพาะฟัก โรงงานผลิตอาหารและห้องเย็น
         งานวิจัยเกี่ยวกับฟาร์มกุ้งแพร่หลายทั่วโลก ส่วนมากเป็นกุ้งในกลุ่มพีนีอิค เริ่มตั้งแต่การผสมพันธุ์ (breeding) วางไข่ (spawning) อนุบาลเลี้ยงในบ่อดิน (growout) อาหารโภชนาการ และเรื่องโรคมาเกือบ 2 ทศวรรษ

1975-1985
         ประมาณกลางปี 1970 เกษตรกรสามารถผลิตกุ้งพันธุ์ให้ฟาร์มกุ้งเพิ่มมากขึ้นและ รู้ว่าการเพิ่มอ๊อกซิเจนเป็นอุปกรณ์สำคัญให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกิดโรงงานทำอุปกรณ์ตีน้ำขึ้น การทำฟาร์มกุ้งแพร่หลายอย่างรวดเร็ว บางรายคุ้มทุนในการเลี้ยงรุ่นเดียว หรือ 2 รุ่นใน 1 ปี มีคนรวยเพราะการทำฟาร์มกุ้งมาก เช่นเดียวกับในประเทศไต้หวัน เป็นฟาร์มแบบพัฒนาขนาดเล็ก ส่วนประเทศจีน ทำฟาร์มแบบกึ่งพัฒนารอบ ๆ Galf of Bohai
        มีรายงานว่าผลผลิตกุ้งในปี 1975 มีปริมาณ 50,000 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น 2.5% ของผลผลิตรวมที่ 20,000 ตัน
ปี 1975 ขณะที่อเมริกาเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีฟาร์มกุ้ง เอกวาดอร์กลายเป็นประเทศผู้นำทางผลผลิตในกลุ่มประเทศทางตะวันตก หรือประเทศฝั่งตะวันตก (West hemisphere) นาเกลือรอบ ๆ Gulf of Guayaquil เปลี่ยนเป็นฟาร์มกุ้ง ปัจจุบันเอกวาดอร์ก็ยังคงเป็นประเทศที่มีผลผลิตกุ้งขาวตะวันตกมากมาเกือบ 2 ทศวรรษ
กลุ่มประเทศตะวันออก (Eastern Hemisphere) ประเทศไต้หวันและจีนเป็นผู้นำในการทำฟาร์มกุ้ง แต่จริง ๆ แล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มีการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติมาเกือบศตวรรษแล้ว มีการทดลองเลี้ยงกุ้งแบบชนิดเดียวเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา และขยายพื้นที่มากขึ้นทำให้ระหว่างปี 1975-1985 ผลผลิตรวมเติบโตขึ้นถึง 50,000-200,000 เมตริกตัน

1985-1995
         ปี 1985 ผลผลิตรวมจำนวน 200,000 เมตริกตัน ประมาณ 10% ของผลผลิตทั่วโลก 75% มาจากกลุ่มประเทศในเอเซีย และคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 เมตริกตันในปี ค.ศ. 1986 และปี 1988 ผลผลิตทั้งหมด จำนวน 450,000 ตัน ประเทศที่ผลิตได้มาก คือ ประเทศจีน เอกวาดอร์ ไต้หวัน เป็นผู้นำส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กำลังเริ่มต้น
         อุตสาหกรรมฟาร์มกุ้ง เริ่มสะดุดในปี 1987-1988 ในประเทศไต้หวัน อัตราการตายของกุ้งสูงมากเกือบทุก ๆ ฟาร์ม อย่างกระทันหันแก้ไขไม่ทัน ทำให้ผลผลิตรวม 100,000 เมตริกตัน ลดลงเหลือเพียง 20,000 เมตริกตัน อะไรเกิดขึ้น? เป็นคำถามที่ต้องคิด น้ำเสียจากโรงงานและฟาร์มกุ้งรวมกัน ฟาร์มกุ้งไม่มีวิธีการจัดการน้ำทิ้ง และน้ำก้นบ่อ นำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคระบาดและสารพิษในน้ำทำให้เกิดความเครียดต่อกุ้ง เป็นที่มาของการเกิดโรคจากไวรัส และฆ่ากุ้งเกือบทั้งหมด เมื่อเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งคูรุมาของญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
         เมื่อเกิดโรคระบาดในไต้หวัน ปี 1987-1988 นายทุนจากไต้หวันก็นำเทคโนโลยีไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย และไปยังประเทศตะวันตก เช่น บราซิล จึงเกิดเทคนิคแบบไต้หวันขึ้น
ในปี 1989 เกิดเหตุราคากุ้งตกลงเท่าตัว จากราคาประมาณ 8.5 เหรียญสหรัฐ ตกลงมาเหลือเพียง 4-5 เหรียญสหรัฐ อันเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระจักรพรรดิ์ของประเทศญี่ปุ่นและประชาชนลดบริโภคกุ้ง ซึ่งถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือย 1 ปี ประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ทำให้มีการปรับกระบวนการการผลิตและการตลาดกันใหม่ทั่วโลก
ปี 1992 ในประเทศไทยมีการทำฟาร์มกุ้งกันแพร่หลายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นจำนวนนับพันราย ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศผู้นำในเอเซีย
         ปี 1993 ประเทศจีน ซึ่งมีผลผลิตต่อเฮกเตอร์เพิ่มขึ้นจาก 100 ตัน ในปี 1988 เป็น 200 ตัน ในปี 1992 และผลผลิตรวมเป็น 50,00 ตัน ในปี 1993 และปี 1994 เกิดโรคไวรัสในประเทศจีนเนื่องจากพื้นที่เลี้ยงต่ำ ระบายน้ำลำบาก และอาหารที่ใช้คือหอยของเหลือจากการประมง ทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคจากไวรัส และฆ่ากุ้งเกือบทั้งหมด
เกือบทุกประเทศที่ทำฟาร์มกุ้งแบบพัฒนา เกิดปัญหาแบบเดียวกัน ในประเทศปี 1990 หลายร้อยรายต้องหยุดและเลิกกิจการฟาร์มกุ้งไป โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ผลผลิตกุ้งไม่ได้เลย ส่วนตอนเหนือของชรา อินโดนีเซีย ในขณะนั้นสามารถผลิตกุ้งได้ผลผลิตสูง จะเห็นได้ว่าในประวัติการเลี้ยงกุ้งที่ผ่านมากกว่า 2 ทศวรรษ เกิดปัญหาเดียวกันในต่างพื้นที่ และต่างเวลาเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเกษตรกรไม่มีทางเลือก นอกจากปั๊มน้ำจากธรรมชาติเข้ามาเพื่อการทำฟาร์มกุ้ง ซึ่งมีไวรัสอยู่ และทำลายกุ้งเหมือนกัน
        ในแถบเอเซีย ปี 1990 มีประเทศใหม่ ๆ ทำฟาร์มกุ้ง เช่น ประเทศเวียตนาม อินเดีย บังคลาเทศ กลายเป็นผู้ผลิตรายใหม่ เช่นเดียวกับประเทศเม็กซิโก ฮอนดูรัส โคลัมเบีย ในซีกโลกตะวันตก
        ปี 1992 ผลผลิตกุ้งจากฟาร์ม เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 เมตริกตัน และอยู่ในระดับนี้จนถึงปี 1995 ประมาณ 25% ของผลิตผลทั่วโลก

 

1995-2005
         ตั้งแต่ปี 1995 โรคที่เกิดจากไวรัส แบคทีเรีย ทำให้จำนวนฟาร์มกุ้งลดน้อยลงในแถบเอเซียและตะวันตก มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคการเลี้ยงเพื่อให้ได้มาตรฐานโลกเกี่ยวกับคุณภาพผลผลิตและสภาพแวดล้อม
ดังนั้นการเลี้ยงกุ้งของประเทศไทย น่าจะมีการเตรียมปรับกลยุทธ์ในการเลี้ยงและวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและสอดคล้องกับมาตรของฟาร์มกุ้งทั่วโลกด้วย
การเกิดโรคในฟาร์มกุ้ง
          จากประวัติศาสตร์ของการทำฟาร์มกุ้งตั้งแต่ ค.ศ. 1965-ปี 2000 การเกิดปัญหาหรือความล้มเหลวของฟาร์มกุ้ง มีสาเหตุใกล้เคียงกันทั่วโลก คือ มลภาวะทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมและการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มกุ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ปัญหาพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติขาดแคลนทำให้ได้ลูกพันธุ์ไม่ดี และอื่น ๆ อีกมาก แต่ปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักและกระทันหัน คือ การเกิดโรคระบาดในฟาร์มกุ้ง เนื่องมาจากไวรัส แบคทีเรีย ทำให้บางประเทศไม่สามารถทำฟาร์มกุ้งได้อีกเลย

ประวัติการเกิดโรคในฟาร์มกุ้งทั่วโลก (ที่มา : ข่าวกุ้ง เดือน ก.พ. 2543)

ปี
โรค
ประเทศ
2513(1970)
โรคระบาดของเชื้อรา (Lagenidium sp)
-
2519 (1976)
โรคระบาดจากไวรัส (Baculovirus)
ปานามา
2522 (1979)
โรคระบาดจากไวรัส IHHN
ปานามา
2524 (1981)
โรคจากเชื้อไวรัส MBV (Monodon Baculovirus)
ไต้หวัน
2529 (1986)
ปัญหาโรค NHP
เท็กซัส อเมริกา
2531 (1988)
ปัญหาโรคตัวแดงดวงขาว (WSSV)
ไต้หวัน
2532 (1989)
โรคจากแบคทีเรีย (Vibriosis)
เอกวาดอร์, ไทย* เสี้ยนดำ
2534 (1991)
โรคหัวเหลือง, ตับแข็ง (YHD)
ไทย
2535 (1992)
โรคไวรัสทอร่า (Taura)
เอกวาดอร์, ลาตินอเมริกา
2536 (1993)
โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV)
จีน
2537 (1994)
โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV)
ไทย
2542 (1999)
โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV)
ไทย, ละตินอเมริกา etc.*ยังแก้ปัญหาไม่ได้

         สำหรับประเทศไทย โรคหัวเหลือง โรคตัวแดงดวงขาว โรคเรืองแสง ทั้ง 3 โรคสร้างความสูญเสียให้กับวงการเพาะเลี้ยงกุ้งมาก หลายสถาบันและบริษัทเอกชนพยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะโรคตัวแดงดวงขาว กำลังสร้างความเสียหายอย่างหนัก ต่อประเทศละตินอเมริกาและของไทย จากรายงานของ Jose' Bolivar Martinez นายกสมาคมกุ้งผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปานามา เป็นประเทศผู้ผลิตพอเพลียส ลูกกุ้งพี กุ้งขาวตะวันตก (Penaeus vannamei) สำหรับป้อนให้กับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มละตินอเมริกา ถึงผลกระทบจาก WSSV ต่อโรงเพาะฟัก และฟาร์มกุ้งในปานามา
ประเทศปานามาเป็นศูนย์กลางนานาชาติในการเดินทางทั่วอเมริกากลาง มีทำเลเหมาะสม ได้เปรียบในการขนส่งลูกพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทำการผลิตลูกพันธุ์กุ้งขาวมากว่า 30 ปีแล้ว รายงานว่า ลูกพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทำการผลิตลูกพันธุ์กุ้งขาวจากปานามามีความต้านทาน taura (Taura Syndrom Virus TSV) ยิ่งเป็นความได้เปรียบมากขึ้น ในปี 2541 ปานามามีการขายนอเพลียสถึง 20 พันล้านตัว และลูกกุ้งพีมากกว่า 2 พันล้านตัวจากโรงเพาะฟักขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง (ในจำนวน 7 แห่ง มีอุปกรณ์เครื่องมือทำให้แม่กุ้งเจริญพันธุ์ (maturation) และวางไข่ 50% ของนอเพลียสส่งไปขายแก่ประเทศโคลัมเบีย คอสตาริกา นิคารากัว ฮอนดูรัส เบลิซ เอลซัลวาดอร์ เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ส่วนการเลี้ยงกุ้งนั้น ปานามาได้พัฒนาพื้นที่ 56,250 ไร่
             ประเทศไทย มีการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ถึง 2542 เป็นเวลา 13 ปี พัฒนามาจากการเลี้ยงกุ้งกึ่งธรรมชาติ (semi intensive) และการเลี้ยงแบบธรรมชาติ (extensive) ซึ่งมีมานานเกือบ 100 ปี ในบริเวณพื้นที่นาข้าวชายฝั่งที่มีน้ำท่วมถึง เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเกษตรผสมผสานประเภทหนึ่งก็ได้ จับกุ้งขายหลังฤดูน้ำหลาก ทำนาข้าวในฤดูฝน หลังเก็บเกี่ยวทิ้งนาไว้ว่าง ๆ น้ำขึ้นมากักเก็บน้ำ และจับสัตว์น้ำขาย หมุนเวียนกันมานานจนกระทั่งก่อนที่การเลี้ยงกุ้งในประเทศไต้หวันจะล่มสลาย การเลี้ยงกุ้งของไทยจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว "สไตล์ไต้หวัน" ใน 3 สมุทร พ.ศ. 2525-2529 และล่มสลายในเวลาเพียง 3 ปีต่อมา คงจะต้องทบทวน ค้นหาสาเหตุ เพื่อหาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการและการจัดการให้เหมาะสมร่วมกันในกลุ่มนักวิชาการเกษตร เอกชนผู้ค้ายาปฏิชีวนะและสารเคมี (จัดกลุ่มเล็ก ๆ) เพื่อหาแนวร่วม แนวคิด เพื่อความเป็นไปได้ทางวิชาการผสมผสานเชิงธุรกิจก่อนที่จะมีการนำออกสู่สาธารณะให้ปฏิบัติได้จริงต่อไป

 

 

อาหารกุ้ง
              อาหารกุ้ง มีผลโดยตรงต่อผลผลิต ต้นทุนการผลิต และสภาพแวดล้อม กุ้งมีลำไส้ตรงยาวเท่ากับความยาวตัว กินอาหารที่พื้นบ่อ (ยกเว้นระยะวัยอ่อนที่เป็นแพลงก์ตอน) แบบกัดแทะทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง อาหารกุ้ง เหมือนกับอาหารของสัตว์อื่นที่ต้องการสารอาหาร 5 หมู่ มะลิ (2542) คือ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน และแร่ธาตุ แต่ต่างกับสัตว์อื่นที่รายละเอียดของแต่ละหมู่ กุ้งต้องการอาหารโปรตีนในอาหารที่ระดับ 30-40% ขึ้นอยู่กับความเค็มและน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้ง ปริมาณและแหล่งพลังงานในอาหาร แม่กุ้งต้องการโปรตีนสูงกว่าปกติคือที่ 50-55% กรดอะมิโนที่ต้องการมีอาร์จินีน อีสทีดีน ไอโซลูซีน ลูซีน เมทไทโอนีน เมทิลอลานีน ทรีโอนีน ทริบโตเพน และวาลีน ระดับที่แนะนำคือ 5.5, 1.7, 3.1, 5.3, 5.2, 2.0, 2.9, 2.7, 0.8 และ 3.6% ของโปรตีนในอาหารตามลำดับ ไขมันในอาหารกุ้งควรอยู่ระหว่าง 5-10% และในจำนวนดังกล่าวควรมีกรดไขมัน โอเมก้า-3 ฮู่ฟ่า 0.5-1.0% ฟอสโฟลิปิด 1.2-1.5% หรือลีซีติน 2% และคอเรสเตอรอล 0.2-0.5% กุ้งกุลาดำสามารถใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตพวกแป้ง ระดับที่เหมาะสม 30% ปริมาณแร่ธาตุในอาหาร ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในสูตรอาหาร ถ้าสูตรอาหารมีแหล่งโปรตีนมาจากสัตว์น้ำ มีแร่ธาตุอยู่มาก และในน้ำที่เลี้ยงมีความกระด้างสูง แร่ธาตุที่ต้องเติมมีเพียงฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แมกนีเซียม ปริมาณ 10, 9, 3 กรัมต่ออาหารหนึ่งกิโลกรัม ตามลำดับ ทองแดง และสังกะสี 53, 52 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ปริมารแร่ธาตุในอาหาร ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแร่ธาตุในวัตถุดิบ แร่ธาตุที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมารแร่ธาตุอื่นในอาหาร เช่น สัดส่วนของ Ca:P = 1:1 ดีที่สุด ถ้าอาหารมี Ca สูง ก็ต้องเติม P ให้สูงด้วย นอกจากปริมาณ Ca และ Phytate ในอาหารจะกระทบต่อ P และสังกะสีที่ต้องการด้วย วิตามินที่กุ้งต้องการมีไทอามีน ไรโบฟราวิน วิตามินบี 12 ไนอาซีน โพลิคเอซิด วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเค ในปริมาณ 14, 22, 5, 0.2, 7.2, 8, 40, 0.1, 40 มิลลิกรัมต่ออาหารหนึ่งกิโลกรัม นอกจากนี้มีสารเสริมสุขภาพ สารพิษในวัตถุดิบปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ควรให้ความสนใจด้วย

 

อาหารกุ้งวัยอ่อน

         กุ้งวัยอ่อนเป็นพวกผิวน้ำ ว่ายน้ำตลอดเวลา อาหารจึงควรจะลอยผิวน้ำ เริ่มแรกระยะ nauplius ลูกกุ้งไม่กินอาหาร มีไข่แดง (yolk) ติดต่ออยู่ได้ 1-1.5 วัน เมื่อลอกคราบครั้งที่ 6 จะเข้าสู่ระยะ protozoea ส่วนของปากจะพัฒนามาจาก mandible เริ่มกินอาหารได้ อาหารชนิดแรกที่กินคือพวกแพลงก์ตอนที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ ในโรงเพาะเลี้ยงจะเตรียมไดอะตอม พวก Chaetoceros sp. และ Skeletonema sp. ใส่ล่วงหน้าให้มีพอเหมาะกำลังดีในวันที่กุ้งเข้าสู่ protozaea วันแรกมิฉะนั้นจะทำให้ลำไส้ตีบ กุ้งจะกินอาหารได้น้อยและตายได้ ลอกคราบ 3 ครั้ง ใช้เวลา 3-5 วัน เข้าระยะ mysis มี 3 ระยะ ลอกคราบ 3 ครั้ง ใช้เวลา 3-5 วัน กินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร ทางการค้ามักจะใช้ไรน้ำเค็มหรือ อาร์ทีเมีย เป็นอาหาร เพราะสามารถฟักให้เป็นตัวอ่อนปริมาณมากในเวลาจำกัด และแน่นอนมากพอสำหรับลูกกุ้ง แต่ปัจจุบันการพัฒนาอาหารเสริมสำเร็จรูปเพื่อทดแทนอาร์ทีเมียเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอาร์ทีเมียเพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตของอาร์ทีเมีย จากสหรัฐอเมริกาลดลงเนื่องจาก Al Nino และ La Nina เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต จึงเป็นต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรควรคุมราคาควบคุมไม่ได้ ต้องใช้อาหารอื่นทดแทน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของลูกกุ้งได้

อาหารกุ้งวัยรุ่น (P15 ในบ่อดิน)

          ปัจจุบันอาหารกุ้งบ่อดิน ซึ่งส่วนมากปล่อยกุ้งระยะ P15 กุ้งมีขนาด 1.2 เซนติเมตรขึ้นไป ในสัปดาห์แรกที่ปล่อยลงบ่อดิน ถ้าเตรียมน้ำดี มีอาหารธรรมชาติ อาจจะไม่ต้องให้อาหารหรือจะให้อาร์ทีเมียตัวโตแทนอาหารสำเร็จรูปอัดเม็ดก็ได้ อาหารของกุ้งบ่อดินมีหลายเบอร์ ตั้งแต่เบอร์ 1 - เบอร์ 5 มีขนาดของเม็ดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับขนาดของกุ้ง P15 เบอร์ต่ำสุดและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเบอร์ 5 อาหารสำเร็จรูปส่วนมากจะมีคุณค่าทางโภชนาการดี ครบทั้ง 5 หมู่ ปริมาณโปรตีนในอาหารมีเปอร์เซ็นต์ต่างกัน คุณค่าทางโภชนาการของอาหารขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลัก คือ โปรตีนจากปลาป่นคุณภาพดีที่ต้องนำเข้าต่างประเทศ และบริษัทผู้นำเข้าควบคุมราคากลาง ทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปของกุ้งค่อนข้างสูง และเป็นต้นทุนการผลิตเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนทั้งหมดในปัจจุบันนี้

การให้อาหารกุ้งโต (growout) ในบ่อดิน

        การให้อาหารกุ้งอายุ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ทั้งในแบบกึ่งพัฒนาและแบบพัฒนา ในประเทศฟิลิปปินส์ ปริมาณอาหารที่ให้ 12-13% ของน้ำหนักตัวกุ้งทั้งหมดให้วันละ 2 ครั้ง แบ่งเป็น 40% ในเวลาเช้า และ 60% ในช่วงเย็น เดือนที่ 2 การให้อาหาร 3-4 ครั้งต่อวัน เดือนที่ 3 และ 4-5 ครั้งต่อวัน อาหารมื้อแรกเวลา 06.00 น. และมื้อสุดท้ายของวันเวลา 01.00 น. ปริมาณอาหารที่ให้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำและอัตราการกินอาหารของกุ้ง ตรวจสอบทุกมื้อ และปรับปริมาณอาหารทุกวัน การตรวจสอบการกินอาหารของกุ้งควรทำอย่างละเอียดเกี่ยวกับปริมาณกุ้งที่มีชีวิต การลอกคราบ สุขภาพของกุ้ง น้ำหนักตัวเฉลี่ย และการจัดการการกินอาหาร

 

 


       ตัวอย่างการให้อาหารประจำวัน (Determining daily feed ration = DFR) อาหารทั้งหมด (Total feed requirement = TFR) และอัตราการแลกเนื้อ (Projected feed conversion ratio = FCR)

อายุ (วัน)
น.น.ตัวเฉลี่ย (กรัม)
อัตราการรอด(%)
อัตราการให้อาหาร (%)
ปริมาณอาหาร(กก./วัน)
ปริมาณอาหาร
ทุก 15 วัน (กก.)
0
0.006
100
10.0
0.36
0.54
15
0.210
95
8.0
0.960
14.40
30
1.700
90
6.0
5.510
82.65
45
5.350
85
4.0
10.910
163.71
60
11.100
80
4.0
21.310
319.68
75
16.900
75
4.0
30.420
456.30
90
23.650
70
4.0
39.970
595.98
105
31.400
70
3.5
46.160
692.37
120
35.000
70
-
-
-
        ปริมาณอาหารทั้งหมดรวม 2,325.63
ที่มา, Apud, 1988    

จากตาราง กำหนดค่า
1. น้ำหนักเริ่มแรก = 60,000 ตัว/เฮกแตร์ (Initial Stock = IS)
2. น้ำหนักทั้งหมดที่ใช้ = 2,325.63 กก. (Total Feed Requirement)
3. อัตรารอด = 70% (Final Survival rate = SRf)
4. น้ำหนักเฉลี่ย / ตัว = 35.00 (Final Average Body weight = ABWf)
5. น้ำหนักเริ่มแรกทั้งหมด (BM) = .006 x 60,000 pcs = 0.36 กก. (Initial Biomass (BMI))
จากตาราง กำหนดค่า
1. Initial Stock (IS) = 60,000 ตัว/เฮกแตร์
2. Total Feed Requirement (TFR) = 2,325.63 กิโลกรัม
3. Final Survival Rate (SRf) = 70%
4. Final Average Body Weight (ABW) = 35 กรัม
5. Initial Biomass (Bmi) = 0.006g x 60,000 ตัว/เฮกแตร์
= 0.36 กก.
การคำนวณค่า
1. เป้าหมายผลผลิต (projected yield = PY) = IS x SRf x ABWf
= 60,000 x 0.70 x 0.035 กก.
= 1,470 กก.
2. อัตราการแลกเนื้อ = TFR = TFR
Weight Gained PY - BMI
= 2,325.65 = 1.58
1,470 - 0.36 กก.
3. การให้อาหารประจำวัน (เริ่มต้น) = IS x SR x ABW x FR
= 60,000 x 0.01 x 0.006 x 0.01
= 0.036 กิโลกรัม

ตารางการให้อาหารประจำวัน เวลา จำนวนครั้ง และจำนวนอาหารที่ให้

เวลา
Pl 20 - 1 กรัม(1 - 30 วัน)
1 - 3 กรัม (31 - 45 วัน)
3 - 8 กรัม (46 - 60 วัน)
8 กรัม - ขนาดจับ(60 - 120 วัน)
06.00
40%
30%
25%
20%
10.00
-
-
20%
15%
14.00
-
-
-
10%
18.00
60%
40%
35%
35%
22.00
-
30%
20%
20%

ข้อสังเกต * เพิ่มอาหารขึ้น 5% ในวันต่อไปถ้าตรวจสอบแล้วกุ้งกินอาหารหมดในเวลา 1 ชั่วโมง
ลดอาหาร 10% ถ้าอาหารเหลือจากเวลาที่ให้ถึงช่วงเวลาถัดไป

อัตราการให้อาหารที่แนะนำ (Apud, 1988)

น้ำหนักตัวเฉลี่ยของกุ้ง (กรัม)
อัตราการให้อาหาร (%)
P1 - 1.0
8 - 12
1 - 5.0
5.5 - 6.5
5 - 10.0
5.0 - 5.5
10.0 - 15.0
4.5 - 5.0
15.0 - 22.0
4.0 - 4.5
20.0 - 25.0
3.5 - 4.0
25.0 - 30.0
3.0 - 3.5
30.0 - 35.0
2.7 - 3.0

การจัดการเรื่องน้ำ

       การขึ้น-ลงของน้ำตามอิทธิพลของดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ มีความสำคัญมากต่อการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ (extensive) ที่ทำการระบายน้ำออกจากนาเมื่อน้ำลง และรับน้ำเข้ามาเมื่อน้ำขึ้น
        นากุ้งแบบกึ่งพัฒนา (semi-intensive) และแบบพัฒนา (intensive) การเปลี่ยนน้ำมี 2 วิธี วิธีแรกคล้าย ๆ ระบบหมุนเวียน คือ ปั๊มน้ำเข้านาพร้อม ๆ กับระบายน้ำทิ้ง ซึ่งวิธีนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว วิธีที่ 2 ปั๊มน้ำเข้าบ่อพักน้ำ เมื่อน้ำขึ้นและจะระบายน้ำทิ้งเมื่อน้ำลง มีทำน้อยเช่นกัน ปัจจุบันการเปลี่ยนถ่ายน้ำมีการจัดการอย่างมีระบบมากขึ้น เมื่อน้ำขึ้นเลือกปั๊มน้ำเข้าบ่อพักน้ำเมื่อต้องการบำบัด ฆ่าเชื้อ น้ำในบ่อพัก และจะปั๊มน้ำจากบ่อพักน้ำเข้าบ่อกุ้งเมื่อจำเป็น และสุดท้ายเป็นการเลี้ยงกุ้งระบบปิด คือ ตลอดการเลี้ยงจะไม่มีการระบายน้ำออก แต่จัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องยาก และมีการใช้สารเคมีเพื่อจัดการคุณภาพน้ำมากขึ้น

การเลี้ยงกุ้งให้เป็นพ่อแม่พันธุ์

        การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์เลี้ยง (domesticated broodstocks) ได้มีความพยายามกันมาหลายปี โดยกรมประมงนิเวศน์และคณะ (2524) เริ่มทดลองเลี้ยงกุ้งกุลดำให้มีไข่แก่ในบ่อ โดยการนำกุ้งกุลาดำที่วางไข่แล้วมาตัดตาและเลี้ยงให้มีไข่แก่ในบ่อซีเมนต์ สมพงษ์ (2528) ทดลองเร่งให้แม่กุ้งมีไข่แก่ด้วยการบีบตา พบว่าแม่พันธุ์ที่จะนำมาบีบตาควรมีน้ำหนักมากกว่า 100 กรัม และ Kungvankij (1986) รายงานว่ากุ้งกุลาดำเพศเมียที่จะนำมาเพาะพันธุ์ควรจะเป็นกุ้งที่มี spermatophore ใน thelycum แล้ว และขนาดไม่ต่ำกว่า 100 กรัม ภายหลังการตัดตาควรให้อาหารสดในปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวต่อวัน ธนาวุฒิและคณะ (2542) เลี้ยงกุ้งกุลาดำให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในบ่อดินด้วยการน้ำลูกกุ้ง P 1-20 จำนวน 100,000 ตัว เลี้ยงในบ่อดินขนาด 2.5 ไร่ ให้อาหารสำเร็จรูป 4 ครั้งต่อวัน วันละ 3-7% ของน้ำหนักตัว เป็นระยะเวลา 197 วัน ได้กุ้งขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 14.508 ฑ 4.151 กรัม ความยาว 11.72 ฑ 1.07 เซนติเมตร อัตรารอดตาย 42.2% คัดเลือกกุ้งเพศเมีย 2,000 ตัว เพศผู้ 2,000 ตัว ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 23.8 ฑ 6.15 กรัม ยาวเฉลี่ย 13.8 ฑ 0.07 เซนติเมตร เลี้ยงในบ่อดินขนาด 1.8 ไร่ ใช้อาหารสำเร็จรูปเลี้ยง 4 ครั้งต่อวัน เมื่อครบกำหนด 300 วัน ใช้อาหารสำเร็จรูปและเนื้อหอยกระพงเลี้ยง อัตรา 3 และ 1 ครั้ง/วัน วันละ 3% ของน้ำหนักตัว เมื่อครบ 363 วัน กุ้งเพศเมียและเพศผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 104.70 ฑ 25.07 กรัม และ 73.02 ฑ 12.50 กรัม ความยาวเฉลี่ย 22.1 ฑ 1.81 และ 20.2 ฑ 1.22 เซนติเมตร อัตรารอดตาย 37.8% และ 32.3% ตามลำดับ มีกุ้งเพศเมียที่ได้รับการผสมแล้ว 47.22% นำตัวเมียที่ได้รับการผสมแล้วมาเร่งให้ฟอร์มไข่ด้วยการตัดตาข้างหนึ่ง จำนวน 20 ตัว เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาด 15 ตัน ให้อาหารสด 10-15% ของน้ำหนักตัว วันละ 3 ครั้ง หลังจากตัดตา 4-20 วัน กุ้งสามารถวางไข่ได้จำนวน 16 ตัว รวมไข่ 4,653,267 ฟอง ฟักเป็นนอเพลียส 20,186,742 ตัว อนุบาลถึง postlarva (P1-20) ได้จำนวน 401,000 ตัว อัตรารอดตาย 19.86% นอกจากนี้มี Boonsirm et. al. (1998) ได้นำกุ้งจากบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่โตเร็วและปลอดโรค WSSV มาเลี้ยงในบ่อดินจนมีอายุ 1 ปี (F0) เป็นพ่อแม่พันธุ์ผลิตลูก (F1) นำลูกมาผ่านขบวนการให้ปลอดโรค WSSV นำมาเลี้ยงจนมีอายุ 1 ปี เป็นพ่อแม่พันธุ์ (F1) ผลิตลูก (F2) และเลี้ยงลูกเพื่อให้เป็น F3 ต่อไป ไพฑูรย์ และทวี (2542) ทดลองเสริมวิตามินอีในอาหารเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมมาจากธรรมชาติ เพื่อให้มีไข่แก่และผสมพันธุ์ได้โดยใช้อาหารสด 10% ของน้ำหนักตัว ร่วมกับอาหารเม็ด 5% ของน้ำหนักตัว อาหารเม็ดมีทั้งผสมวิตามินอี และไม่ผสมวิตามินอีเป็นตัวเปรียบเทียบ ผลปรากฏว่าการเสริมวิตามินอีระดับ 0.5% ในอาหารเม็ดร่วมกับอาหารสด จะทำให้แม่พันธุ์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แม่กุ้งมีไข่แก่เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า ผลิตนอเพลียสสูงกว่า 3.9 เท่า และมีอัตราฟักสูงกว่า 1.9 เท่า
ในการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำให้เป็นพันธุ์เลี้ยง ในบ่อดินนั้นสามารถเลี้ยงและผลิตลูกได้ถึงรุ่นที่ 3 (F3) เท่าที่มีรายงานในประเทศไทยขณะนี้ส่วนมากเป็นการนำเอาลูกของรุ่นแรก (F0) จากทะเลมาบีบตาผสมและผลิตลูก F1 นำลูก F1 มาผสมและผลิตลูก F2 และ F3 ต่อไป ซึ่งเป็นการผสมของลูก-หลาน ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์กุ้งกุลาดำ เพื่อให้เป็นพันธุ์เลี้ยงในหลายประเทศ และมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์กันมากขึ้น
การปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยทั่วไปจะทำเพื่อการปรับปรุงลักษณะที่ให้ผลผลิต เช่น การเจริญเติบโต ความต้านทานโรค คุณภาพเนื้อและการให้ลูกดก ฯลฯ ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะปริมาณที่มียีนควบคุมจำนวนมากคู่ ยีนแต่ละตัวมีผลเพียงเล็กน้อยต่อความแปรปรวนทั้งหมดของลักษณะนั้น แต่ลักษณะทางปริมาณนี้จะมีอัตราพันธุกรรมต่ำ และบางลักษณะต้องใช้เวลานานถึงจะแสดงออก
       ในกุ้งมีลักษณะที่น่าสนใจสำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ การเจริญเติบโต ความต้านทานโรค และความดกของไข่ เป็นต้น
        การเจริญเติบโต เป็นลักษณะที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถ้าปรับปรุงให้เจริญเติบโตดีขึ้นก็จะช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงลง ลักษณะการเจริญเติบโตสามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อไปได้ ซึ่งมีรายงานอัตราพันธุกรรมของลักษณะการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 0.1-0.35 (Lester and Lawson, 1990 ; Wyban, 1992 ; Gjegrem and Fimland, 1995 ; Garcia and Benzie, 1995) ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับการศึกษาของ Carr et al. (1996) โดยพบอัตราพันธุกรรมของการเจริญเติบโตและอัตรารอดคือ 0.42
          อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงพันธุ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งนั้น ต้องอาศัยการคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะตามต้องการ โดยมีวิธีการคัดเลือกพันธุ์ดังนี้คือ
1. Individual selection หรือ Mass selection เป็นการคัดพันธุ์โดยพิจารณาจากลักษณะของสัตว์นั้น ๆ เพียงอย่างเดียว และลักษณะนั้น ๆ ต้องมีอัตราพันธุกรรมสูงถึงจะทำให้การคัดพันธุ์ได้ผล วิธีการนี้ใช้กันมาก แม้แต่ในลักษณะที่มีอัตราพันธุกรรมต่ำ เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดการผสมมาก และการคัดเลือกทำได้สะดวก แต่มีข้อเสียที่สำคัญคือใช้ไม่ได้ผลกับลักษณะที่มีอัตราพันธุกรรมต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่
2. Family selection เป็นการคัดพันธุ์โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของครอบครัวและคัดไว้หรือคัดทิ้งทั้งครอบครัว
3. Within-family selection เป็นการคัดพันธุ์โดยพิจารณาตัวที่มีลักษณะดีที่สุดของแต่ละครอบครัว

การคัดพันธุ์กุ้ง

        แม้ว่าการทำ individual selection หรือ mass selection จะทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ทดสอบและบันทึกผลได้ง่าย แต่การคัดพันธุ์แบบนี้ไม่สามารถหา "interval" ระหว่าง generation ได้จึงควรใช้วิธีการคัดพันธุ์แบบ family selection ควบคู่ไปกับการทดสอบ progeny อย่างต่อเนื่องทั้งแบบ full sib และ half sib
การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากร

การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากร
     มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกกลุ่มประชาการตามความถี่ของยีน (gene frequency) และมีการเปลี่ยนแปลงความถี่เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การจัดการเพื่อการอนุรักษ์ การปรับปรุงพันธุ์ การศึกษาอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ เป็นต้น
     เนื่องจากกุ้งกุลาดำ ได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย โดยพันธุ์กุ้งที่ใช้ในการเลี้ยงทั้งหมดได้จากการจับพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติขึ้นมาเพาะพันธุ์ ซึ่งมีการจับพ่อแม่พันธ์ปีละประมาณ 5-6 แสนตัว ทำให้ประชากรกุ้งกุลาดำในธรรมชาติลดลง ความหลากหลายทางพันธุกรรมในธรรมชาติก็ลดลงด้วย นอกจากนี้การหลุดรอดของพันธุ์กุ้งที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงลงไปในธรรมชาติปะปนกับประชากรดั้งเดิม มีผลทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงเช่นกัน
     การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรกุ้งกุลาดำจะทำให้ทราบว่ากุ้งกุลาดำในธรรมชาติแตะละแหล่งประกอบด้วยประชากรที่กลุ่มเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดการผสมพันธุ์ป้องกันการผสมเลือดชิด และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สำหรับการสร้าง domesticated broodstock ต่อไป

การปรับปรุงพันธุ์แบบวงจร (recurrent selection)
     การปรับปรุงประชากร (population improvement) เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วในการปรับปรุงพืชผสมข้าม (cross-pollinated crops) แต่มีการนำมาใช้น้อยมากในการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการผสม และจำนวนลูกที่ผลิตได้มีจำกัด การปรับปรุงประชากรแตกต่างจากการปรับปรุงสายพันธุ์ (line improment) ในแนวคิดเรื่องการยกระดับค่าเฉลี่ยของประชากร โดยการเพิ่มความถี่ของยืน หรือ allele ที่ดีให้มากขึ้น (favorable allele) ดังนั้นพันธุกรรมที่ได้อาจเป็นรุ่นลูกของประชากรผสมเปิด ระหว่างสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้ว
     การปรับปรุงแบบวงจร (recurrent selection) เป็นวิธีการหนึ่งของการปรับปรุงประชาการแต่ละรอบของการปรับปรุงพันธุ์แบบวงจร ประกอบด้วยสามขั้นตอน คือ ก) การเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อการผสม ข) การทดสอบรุ่นลูกที่ได้จากการผสมในข้อ ก และ ค) การผสมรวมพ่อแม่พันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกในขั้นที่สอง ได้เป็นประชากรที่ได้รับการปรับปรุงรอบที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์รอบที่สองต่อไป การปรับปรุงพันธุ์แบบวงจรมีหลายวิธี (Hallaure and Miranda, 1981) คือ
- In population : ปรับปรุงภายในประชากรเดียวกัน
- Mass selection
- Modified ear-to-row ใช้กับสัตว์ไม่ได้
- Full-sib selection
- Half-sib selection
- SI selection ไม่ใช้กับสัตว์
Interpopulation : ปรับปรุงระหว่างสองประชากรพร้อม ๆ กัน
- Full-sib reciprocal recurrent selection
- Half-sib reciprocal recurrent selection

     แนวความคิดในการปรับปรุงประชากรแบบวงจร สามารนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจาก ก) กุ้งกุลาดำมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง (geneticdiversity) ข) กุ้งมีธรรมชาติของการผสมข้ามเนื่องจากการแยกเพศผู้-เมียอย่างชัดเจน ค) แม่กุ้งมีอัตราการฟักสูง หนึ่งแม่สามารถผลิตนอเพลียสได้กว่าล้านตัว ง) พ่อแม่กุ้งมีอายุประมาณ 2 ปี สามารถตกไข่ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้สามารถเวียนแม่กุ้งที่ได้รับการคัดเลือกแล้วกลับมาผสมรวมได้ (recombination) ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์อย่างหนึ่ง
     โมเลกุลเครื่องหมาย (molecular marker) เป็นเครื่องหมายในระดับโมเลกุลของโปรตีน, ดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ในเซลล์สิ่งมีชีวิต ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่นด้านการเกษตร ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ด้านการแพทย์ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาโรค ด้านพันธุศาสตร์ ใช้ในการศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรและความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งของมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์เป็นต้น

     โมเลกุลเครื่องหมายสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ดังนี้ คือ biochemical marker
และ DNA marker ซึ่ง biochemical marker เป็นการศึกษาในระดับโปรตีนเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายในการศึกษาพันธุกรรม ส่วน DNA marker เป็นการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเลือกใช้ DNA marker มากกว่า biochemical marker เนื่องจากดีเอ็นเอเป็นที่มาของโปรตีน ตลอดจนเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถศึกษาดีเอ็นเอได้ง่าย
      การศึกษาเกี่ยวกับอณูพันธุศาสตร์โดยการศึกษาดีเอ็นเอสามารถทำได้หลายวิธี โดยสามารถแบ่ง
ออกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ วิธี RFLP และ RCR (สมวงษ์ และอภิชาติ, 2538)
1. Restriction Fragment Length Polymorphism (RFLP) หมายถึง ความแตกต่างหรือความหลากหลายของขนาดดีเอ็นเอที่เกิดจากการตัดด้วยเอ็นไซม์ตัดจำเพาะ (restriction enzyme) เนื่องจากข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจะเก็บอยู่ในนิวเคลียสและออร์กาเนลล์บางชนิดและมีคุณสมบัติในการจำลองตัวเองอย่างถูกต้องแม่นยำไปสู่รุ่นลูกต่อ ๆ ไป แต่ในบางครั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อันเนื่องมาจากชิ้นส่วนของดีเอ็นเอหรือโครโมโซมหายไป (deletion) มีชิ้นส่วนของดีเอ็นเอบางส่วนเพิ่มขึ้น (duplication) มีการจัดเรียงตัวใหม่ของดีเอ็นเอภายในโครโมโซม หรือจากต่างโครโมโซม (transpostion) ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด
วิธีการ RFLP เป็นเทคนิคที่ใช้ตรวจสอบความแตกต่างของลำดับเบสบนสายดีเอ็นเอที่เกิดจากการตัดด้วยเอ็มไซม์ตัดจำเพาะแล้วแยกชิ้นส่วนโดยวิธี gel electrophoresis และย้ายชิ้นส่วนดังกล่าวไปไว้ที่ nitrocellulose filter หลังจากนั้นก็จะทำการผสม (hybridization) ชิ้นส่วนดีเอ็นเอกับติดตัวตาม (labelled DNA probe) และติดตามโดยการใช้ mon-radioactive detection ซึ่งตัวตรวจสอบที่ใช้มีหลายอย่าง ได้แก่ ชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่เป็น single copy และชิ้นส่วนดีเอ็นเอทีเป็นเบสซ้ำกัน (re[eated seqiemce) ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น minisatellite, microsatellite เป็นต้น
2. Polymerase Chain Reaction (PCR) คือ การเพิ่มปริมาณของชิ้นส่วนดีเอ็นเอเฉพาะส่วนที่ต้องการศึกษาให้มีปริมาณมากขึ้นในหลอดทดลอง โดยใช้เอ็นไซม์ DNA polymerase ซึ่งเป็นการเลียนแบบการจำลองตัวเองของดีเอ็นเอ (DNA replication) ในสิ่งมีชีวิต ในการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นโดยการทำให้สายดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสายคู่แยกเป็นเส้นเดี่ยวแล้วให้ดีเอ็นเอเริ่มต้น (primer) โดยมีเอ็นไซม์ Tag DNA polymerase ทำให้เกิดการเพิ่มขยายส่วนของ polynucleotides ซึ่งจะนำเอา mucleotide ที่มีเบสเป็นคู่กับดีเอ็นเอต้นแบบมาต่อเป็นสายยาวในทิศทางจากปลาย 5' ไปปลาย 3' และเกิดปฏิกิริยาซ้ำ ๆ กันหลายรอบ จนได้ส่วนของดีเอ็นเอผลผลิตที่มีความเฉพาะเจาะจง
วิธีการที่เกี่ยวกับ PCR นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำให้เกิดเทคนิคในการทำ DNA fingerprint ต่าง ๆ เช่น RAPD, STS, Alu-PCR และ AFLP เป็นต้น (สมวงษ์ และอภิชาติ, 2538)
     2.1) 12s และ 16s rDNA genes amplification เป็นการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ ส่วน 12s และ 16s rDNA genes ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างทางพันธุกรรมของกุ้งได้ ดังเช่น Palumbi and Benzie (1991) ได้ศึกษาความแตกต่างของลำดับเบสบน mtDNA ในกุ้งที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน และอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกันของกุ้ง Penaeus vannamei, Penaeus stylirostris, Penaeus esculents, Metapenaeus endaevori พบว่ากุ้งที่อยู่ใน subgenera Penaeus มีความแตกต่างกันถึง 18% Maclado et al. (1993) พบส่วนของ 16s rDNA genes มีลำดับเบสที่แตกต่างกันถึง 11% ระหว่างกุ้ง Penaeus notiaiis และ Penaeus schmitti
     Bouchon et al. (1994) ได้หาความแตกต่างของ mtDNA เพื่อใช้เป็น marker ดูความแปรปรวนภายในชนิดกุ้ง Penaeus monodon และใช้แยกกับกุ้ง Penaeus japonicus โดยพบ molecular size ของกุ้งทั้ง 2 ชนิด มีขนาดความใกล้เคียงกันคือประมาณ 16,000 คู่เบส (basepair, bp.) หลังจากนำ mtDNA ของกุ้ง Penaeus monodon มาตัดด้วย restriction enzyme (Bgl II, Pst I) พบสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างจาก Fiji มีความแตกต่างกับสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างจาก Malaysia และ Astralia สำหรับในการหา marker ที่สามารถแยกชนิดระหว่างกุ้ง Penaeus monodon และ Penaeus japonicus นั้น ใช้ 12s rDNA 16s rDNA genes amplification ซึ่งให้ผลผลิตขนาด 415+2 bp. และ 520+6 bp. ตามลำดับ restriction enzyme Bst E II, Ssp I และ Acc I, Ssp I สามารถแยกความแตกต่างในกุ้งทั้งสองชนิดของ 12s และ 16s rDNA genes ตามลำดับ
     2.2) Random Amplified Polymorphism DNA (RAPD) หรือ Arbitary Primed PCR (AP-PCR) เป็นวิธีการหาความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยอาศัยเทคนิค Polymerase Chain Reaction โดยใช้ primer ที่เป็น oligonucleotides (8-10 bp.) ให้จับกับสายดีเอ็นอีแบบสุ่มก็จะได้ PCR product สามารถนำไปใช้หาความหลากหลายทางพันธุกรรมได้ เทคนิคนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Williams et al. (1990) ซึ่งสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว วิธีการไม่ซับซ้อน ดังที่ Garcia and Benzie (1995) ได้ใช้ RAPD สำหรับตรวจสอบรุ่นลูกของคู่ผสมกุ้งแต่ละคู่
      2.3) Amplified Fragment Length Polymorphism (AFLP) เป็นเทคนิคในการทำ DNA fingerprint เพื่อศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การตัดดีเอ็นเอ (genomic DNA) ด้วย restriction enzyme การเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอที่ตัดแล้ว ด้วย primer ที่เป็น selective base และการวิเคราะห์ผลด้วย gel electrophoresis ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถเลือกเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอได้และให้ความละเอียดสูง (Vos et al. 1995)
      2.4 ) Microsatellite DNA micorsatellite DNA คือ ส่วนของดีเอ็นเอที่มีการเรียงตัวของลำดับเบสจำนวน 1-6 นิวคลีโอไทด์ (nucleotides) ซ้ำกันตั้งแต่ 2 ซ้ำขึ้นไปพบกระจายทั่วไปในจีโนม ต่อมาได้มีการใช้ microsatellites เป็น DNA markers ในการศึกษาจีโนมและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น Simple Sequence Repeat (SSR), Simple Sequence Length Polymorphism (SSLP) และ Sequencetagged Microsatellite Site (STMS)
      microsatellites ได้มีการศึกษาครั้งแรกในจีโนมคน (Hamada et al., 1982) โดยมีข้อดีของการใช้ microsatellites ในการศึกษา คือ 1) higly informative คือให้ข้อมูลต่าง ๆ ในจีโนมได้มาก เนื่องจากสามารถบอกให้ทราบถึงสภาพข่มร่วมกันของยีน (co-dominant) และยีนหลายตำแหน่ง technically simple คือ สามารถใช้เทคนิค PCR ในการตรวจสอบ 2) sensitive คือต้องการปริมาณดีเอ็นเอเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็สามารถเกิดปฏิกิริยาได้ 3) analytically simple คือผลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้เลย ไม่คลุมเครือ และสามารถทำซ้ำได้โดยผลที่ได้ไม่เปลี่ยนแปลง 4) highly abundant คือ สามารถพบกระจายสม่ำเสมอในจีโนม 5) readily transferable คือ สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ primers ได้โดยง่าย 6) flexible คือ สามารถใช้เป็น sequence tagged sites ใช้ประโยชน์ในการทำ genetic linkage maps และ physical chromosome locations จากคุณสมบัติข้างต้นจึงน่าจะสามารถนำมาใช้ศึกษาจีโนมของกุ้งได้
      การจัดกลุ่มกุ้งสามารถทำได้อย่างแม่นยำ โดยการวิเคราะห์ความแตกต่าง restriction size ของยีน 12s rDNA และ 16s rDNA ใน mitochondrial genome หรือ โดยใช้เทคนิค RAPD ความแตกต่างกุ้งภายใน species เดียวกัน เทคนิค AFLP สามารถแยกกุ้งได้ทุกตัว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Vanavichit et al., 1996) แต่อย่างไรก็ตาม โมเลกุลเครื่องหมายเหล่านี้ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง locus ที่เป็น heterozygous กับ homozygous ได้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการศึกษาพันธุกรรมของสัตว์ ดังนั้นโมเลกุลเครื่องหมายแบบ RFLP และ microsatellite marker จึงมีความสำคัญสูงสุด และจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการอยู่โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพประจำปี 2540-2542 จำนวน 6 ล้านบาท เพื่อทำการวิจัยเรื่อง "การวิจัยได้ประชากรรุ่นที่ 2 ขณะนี้เลี้ยงอยู่ที่โครงการและประชากรรุ่นที่ 2 อีกแม่หนึ่งอยู่ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องขอบคุณ ผอ.อนันต์ ตันสุตะพาณิชย์ และคุณบรรจง และครอบครัว นิสภาวาณิชย์ทุกคน พร้อมทั้งศิษย์เก่าประมงทุกท่านที่ช่วยเหลือ
     การพัฒนาโมเลกุลเครื่องหมาย หรือการศึกษาด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากหน่วย DNA Fingerprint ทั้ง ดร.อภิชาต วรรณวิจิตร ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง และสุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี พร้อมทั้งได้นำเรื่องของการใช้โมเลกุลเครื่องหมาย microsatellite markers เข้ามาช่วยในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำก่อนจับคู่ผสม เพื่อป้องกันการผสมกันเองระหว่างที่น้องหรือการผสมเลือดชิด (inbreed) การปรับปรุงพันธุ์กุ้งกุลาดำทำพร้อมไปกับความพยายามที่จะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ป่า (Wild type) ที่จับจากทะเลตลอดมาให้เป็นพันธุ์เลี้ยง (domesticated broodstocks) ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และได้รับทุนวิจัยให้ดำเนินการต่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์กุ้งกุลาดำให้เป็นพันธุ์เลี้ยงอีก 4 ปี จนถึงปี 2547 หวังว่าคงไม่เสียเวลาเปล่า ทุกท่านทราบดีว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ขายได้รอบหนึ่ง ๆ ใช้เวลา 4-5 เดือน ยากลำบากแค่ไหน การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ อายุ 5-6 เดือนให้มีอายุ 12-18 เดือน เพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์นั้นต้องบอกว่า ยาก ลำบากแทบเลือดตากระเด็นทีเดียว ถ้าถามว่าแล้วใครสั่งให้ทำ "บุคคล" ที่ออกคำสั่งให้ทำไม่มี แต่ด้วยจิตสำนึกและความผูกพันกับกุ้งและแผ่นดิน ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ แม้ว่าจะต้องเหนื่อยยากลำบากแค่ไหนก็จะทำให้ได้อาจจะไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ได้สัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ก็พอใจแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องสานต่อไป
เหลียวหลังดูกุ้งตั้งแต่เล็กจนโตใหญ่ ออกไข่ ฟักเป็นตัว เจริญเติบโต สร้างรายได้ให้กับ
     ประชาชนจำนวนมาก หลายอาชีพแล้วมองไปข้างหน้าให้ไกล ใครคือคู่แข่ง ตลาดโลกต้องการกุ้งคุณภาพ การกีดกันทางการค้า มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14000, ISO 14002, 14008 น้ำมันแพง ต้นทุนสูง แม่พันธุ์ขาดแคลนและราคาแพง การผูกขาดในระบบ กุ้งเป็นสินค้าเกษตรอีกตัวหนึ่งที่จะเข้าสู่ "ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี" คนเลี้ยงกุ้ง ทั้งหมดต้องมีการปรับตัว เพื่อเตรียมวางรากฐานของการเลี้ยงให้สอดคล้องกับกระแสโลก โดยพัฒนาคุณภาพคนเลี้ยงอย่างเป็นขั้นตอนให้มีความพร้อมทั้งความรู้เรื่องกุ้ง เทคนิคการเลี้ยง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้ทันหรือทัดเทียมกับต่างประเทศ ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันหมดในยุคข่าวสารข้อมูลไร้พรมแดน ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้เสมอกันอยู่ที่ว่าใครตามทัน ใครตามไม่ทันเท่านั้นเอง


  
โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=134

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.