Assist.prof.Kosin. pattanamanee                                                                                 I Guest book

Best viewed in IE5+ 800x600 Medium fonts ;   Contact us at : e-mail:s4423001@maliwan.psu.ac.th

 

จุลินทรีย์กับการเพาะเลี้ยงกุ้ง
4/7/2546 13:53:10, by
เกรียงศักดิ์ พูนสุข

 จุลินทรีย์กับการเพาะเลี้ยงกุ้ง
(Microorganisms and Shrimp Production)

เกรียงศักดิ์ พูนสุข
คำนำ
     "จากกระแสเรียกร้องจากพลโลก" โดยการที่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ ได้รับทราบข่าวสารเรื่องของสารตกค้างในเนื้อสัตว์และเล็งเห็นถึงอันตรายที่จะกระทบต่อสุขภาพของตนเองจากเคมีหรือยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสารเหล่านี้ปรากฏในเนื้อจากการใช้มันเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต (Feed additive) และมีการใช้ยาปฏิชีวนะและเคมีบำบัดอย่างพร่ำเพรื่อ ใช้มากเกินไป ใช้ในระดับที่สูง (High dose) เป็นต้นดังนั้นในหลายประเทศที่เจริญแล้วจึงได้ออกมาตรการกำหนดว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาบริโภค จะต้องไม่มีการเติมยาปฏิชีวนะหรือเคมีที่เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในอาหาร แม้กระทั่งการบำบัดรักษาโรคติดเชื้อ การใช้ยาจะต้องอยู่ในความควบคุมและสั่งยาโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มหรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐ ที่มาของการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตเป็นที่ทราบกันดีว่าแต่เดิมนักวิชาการได้แนะนำให้ใช้เพื่อเป็นการป้องกันและลดปริมาณจำนวนของตัวก่อโรค จึงให้ใช้ในระดับต่ำกว่าขนาดของการบำบัดรักษาโดยการผสมอาหาร แต่ผลที่ได้คือทำให้สัตว์กินอาหารได้มากขึ้นเจริญเติบโตดีขึ้น จึงเป็นที่นิยมในการเติมสารเหล่านี้ลงไปในอาหาร นอกจากเคมีและยาปฏิชีวนะที่เป็นสารตกค้างแล้วยังมียาฆ่าแมลงและเคมีกำจัดวัชพืช ก็นับว่าเป็นสารตกค้างที่ตรวจพบได้บ่อย ๆ สุดท้ายที่ยังไม่มีการกล่าวกันถึงมากนัก คือ สารพิษจากเชื้อรา
     ตัวก่อโรค โดยเฉพาะแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร (Enteropathogen) เป็นอีกประเด็นหนึ่งในสัตว์บก ได้แก่ เชื้อ อี.โคลัย ซาลโมเนลล่า แคมไพโลแบคเตอร์ และ เยอร์ซิเนีย เป็นต้น ส่วนในสัตว์น้ำก็มีเชื้อ วิบริโอเป็นสำคัญ เชื้อเหล่านี้บางตัวอาจเป็นสาเหตุของโรคสัตว์ติดคนโดยตรง เช่น จากเชื้อซาลโมเนลล่าบางชนิด มนุษย์เกิดการติดเชื้อจากการปนเปื้อนเนื้อสัตว์จากกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ (เมื่อชำแหละกระเพาะลำไส้แตกและเกิดการปนเปื้อนจากน้ำที่ใช้ทำความสะอาดซาก เป็นต้น)

     การเลี้ยงสัตว์จะต้องมีอาหาร ดังนั้น เมื่อมีการเพิ่มจำนวนของสัตว์ ความต้องการวัตถุดิบก็มีมากยิ่งขึ้น ปัญหาสำคัญคือ พื้นที่เพาะปลูกธัญญพืชมีจำนวนจำกัด หากต้องการเพิ่มพื้นที่ก็ต้องมีการถากถางหรือบุกรุกเข้าไปสู่ป่า เป็นการทำลายป่า อนึ่งจากการที่มีการปลูกพืชแบบหนาแน่นและ ต่อเนื่องนาน ๆ คุณภาพของดินก็เสื่อมสภาพลง ถึงแม้ว่าจะมีการเติมสารอาหาร เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางครั้งหรือบางพื้นที่ก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ดี ในประมาณ 15 ปี ล่วงมานี้ นักวิชาการได้มาวิเคราะห์ดู พบว่าในกรรมวิธีการผลิตอาหารสัตว์หรือสัตว์เลี้ยง มีการใช้วัตถุดิบแบบสิ้นเปลืองหรือฟุ่มเฟือย สัตว์สามารถนำอาหารไปใช้ได้จริง ๆ แล้วอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 40% ตัวอย่างที่ดี คือ ในเล้าไก่ เมื่อเราสำรวจดูมูลไก่จะพบว่ามีกากอาหาร เช่น เม็ดข้าวโพดที่บดหรือเม็ดปลายข้าวถูกถ่ายทิ้งออกมา ยังไม่นับถึงโปรตีนจากปลาป่นเพราะสีกลมกลืนกับมูลไก่ ในกุ้งกุลาดำก็เช่นเดียวกันที่มีนักวิชาการสรุปว่า กุ้งสามารถนำอาหารไปใช้ได้เพียง 38% เท่านั้น
      จากการศึกษาพบว่า ศักยภาพหรือประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน ความหมายคือสัตว์ไม่สามารถที่จะสร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยสารอาหาร ซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบของวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น ไก่ไม่สามารถสร้างน้ำย่อยเบต้ากลูคาเนสได้ จึงย่อยแป้งข้าวบาเลย์ไม่ได้ดี และในพืชชั้นสูงไม่สามารถนำเอาฟอสฟอรัสในรูปของไฟเตต ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเปลือกของธัญญพืชไปใช้ได้ (เป็นสาเหตุของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากธาตุฟอสฟอรัส) จึงมีการศึกษาผลิตน้ำย่อยหรือมีการสังเคราะห์ออกมาเติมในอาหารสำเร็จ ผลคือสัตว์สามารถย่อยสารอาหารได้ดีประเมินได้จากการเจริญเติบโตและเป็นการประหยัดวัตถุดิบ
     สิ่งแวดล้อมกระทบจากการเลี้ยงสัตว์ (เกรียงศักดิ์ 2535 ข) ได้กล่าวละเอียดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น กลิ่นสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์ การสะสม และแพร่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่มีแหล่งต้นตอจากสัตว์ เน้นที่จุลินทรีย์ตัวก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำจัด วัชพืช สารไฟเตต ที่ส่งผลถึงการทวีจำนวนของสาหร่ายสีเขียวในแหล่งน้ำธรรมชาติ กระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำวัยอ่อน การทำลายป่า และการทำลายชั้นหน้าดิน เป็นต้น
     ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องตระหนักถึงความสำคัญ เนื่องจากมันเป็นที่มาของการกีดกันทางการค้า ดังนั้น จึงมีคำถามว่า เกษตรกรหรือบริษัทที่ต้องการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออกแล้ว จะต้องดำเนินการผลิตโดยเหลีกเลี่ยงปัญหาที่สำคัญที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการผลิตสัตว์เพื่อการบริโภคภายใน ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะละเลย การกีดกันทางการค้านี้ในอนาคตอันใกล้อาจมีมาตรการใหม่ คือ การเลี้ยงหนาแน่นในบางประเทศ ถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของสัตว์ หมายถึง สัตว์ต้องมีสิทธิของตนเอง (Animal right) ก็คือต้องเลี้ยงสัตว์ให้มีพื้นที่มากพอที่สัตว์สามารถเดินหรืออยู่ได้อย่างอิสระ หรือเลี้ยงแบบใกล้เคียงกับความเป็นอยู่แบบธรรมชาติมากที่สุด

ทางแก้
     ในประเด็นปัญหาทั้งหมด ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพสามารถนำมาทดแทนได้ เช่น สารเสริมชีวนะ (Probiotic) สารช่วยย่อยหรือน้ำย่อย (Enzymes) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งการเจริญเติบโตและป้องกันการติดเชื้อในตัวสัตว์เสริมประสิทธิภาพในการใช้สารอาหารน้อย แต่ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีขึ้นหรือเท่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตที่อยู่ในรูปของเคมี และยาปฏิชีวนะ การใช้น้ำย่อยที่ออกแบบเป็นพิเศษ สามารถกำจัดหรือลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ลดปัญหาของสารไฟเตต ลดปัญหาของกลิ่น นอกเหนือจากประสิทธิภาพเร่งการเจริญเติบโตของน้ำย่อย ปัจจุบันในวงการสัตว์บก มีการแนะนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์รวมมาใช้ในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์ ปรากฎว่าได้ผลดีหลายประการคือ สามารถลดกลิ่นได้เป็นการป้องกันผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้พบว่ามันสามารถเป็นตัวข่มและแข่ง (Competitive Exclusion, CE) ของจุลินทรีย์ตัวก่อโรคได้ ในสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์หรือในสิ่งรองนอน เราอาจเรียกว่ากระบวนการข่มและแข่งในสิ่งแวดล้อม (Environment, CE) (สุภาพและคณะฯ,2545) ปรากฎการณ์นี้ก็เช่นเดียวกันที่ตรวจพบว่าในบ่อเลี้ยงกุ้งที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์บำบัดควบคุมสภาพนี้อย่างเหมาะสม จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์สามารถข่มให้เชื้อวิบริโอลดจำนวนลงในตะกอนผิวเลนและในน้ำ (เกรียงศักดิ์และสุภาพ, ข้อมูลส่วนตัว)
     ดังนั้น ประเด็นสำคัญทั้งหมดก็จะต้องมีการพัฒนาการผลิตสัตว์คุณภาพมากกว่าการผลิตสัตว์เชิงปริมาณ (Quality than Quantity) ในความหมายทั่วไปก็คือ เข้าสู่ยุคของการผลิตสัตว์เขียว (Green Animals) ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
     เพื่อเป็นการเข้าใจง่าย ๆ ขอสรุปว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ หรือผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ประการสำคัญคือ ต้องไม่เป็นสิ่งที่มีพิษมีภัยหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สำคัญที่เราเลือกมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่แพร่หลายได้แก่
1. จุลินทรีย์ : พวกแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดที่ไม่เป็นตัวก่อโรคหรือไม่สามารถสร้างสารพิษหรือสารปฏิชีวนะได้ในระดับที่มีความเข้มข้นสูง พวกเหล่านี้เน้นที่คุณสมบัติของการเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ตามคุณสมบัติที่ เกรียงศักดิ์ (2535 ก) หรือการเป็นโปรไบโอติคที่ดีนั่นเอง ผลิตภัณฑ์มีหลากหลายทั้งในการออกแบบชนิดเดียว (Single Microbial additive) นอกจากนั้นพวกสารหลั่ง (Excretion) หรือผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสันดาป (Metabolic Products) อื่น ๆ ที่สำคัญคือ น้ำย่อย (Enzymes) ก็มีการเตรียมมาจากแบคทีเรียและเชื้อรากลุ่มนี้เช่นเดียวกัน สรุปคือผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในรูปผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีทั้งชนิดที่ใช้โดยตรงและใช้สารหลั่งจากกระบวนการสันดาป
2. พืช : ทั้งพืชชั้นสูงและพืชชั้นต่ำ เช่นสาหร่ายเกลียวทอง เป็นต้น เราสามารถใช้สารที่สกัดออกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ตัวอย่างง่าย ๆ ใกล้ตัวเรา เช่น สารสกัดจากใบ เมล็ด และผลสะเดาหรือนำมาบดเป็นผง เช่น จากใบและต้นฟ้าทะลายโจร หรือผงอบแห้งสาหร่ายเกลียวทอง กระเทียมผง (สาโรชและคณะ, 2545) ก็เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีการแนะนำเริ่มใช้ในระบบการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
3. สัตว์ : ความจริงแล้วเรารู้จักการสกัดเอาสารที่จำเป็นจากสัตว์มาใช้นานแล้ว ที่สำคัญคือการสกัดเอาฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมาใช้ หรือสกัดเอาเอ็นไซม์จากตับและตับอ่อนมาใช้เป็นประโยชน์
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น กระบวนการผลิตหรือเลี้ยงสัตว์ที่จะนำมาบริโภค จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง เกรียงศักดิ์ (2545) ได้อธิบายไว้โดยละเอียดในเรื่อง การผลิตสินค้าเกษตรในยุคต้นคริสศตวรรษที่ 21 และเกรียงศักดิ์ (2546) ได้สรุปไว้ในการบรรยาย เรื่อง วิกฤตการณ์การเลี้ยงสุกร ปัจจัยในการผลิตและเลี้ยงจะเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติเป็นสำคัญ และที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็เป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ทั้งในรูปแบบของเป็นสารเสริมชีวนะ (Probiotic), เป็นต้นแบบของการสร้างน้ำย่อย (Enzyme Production), การผลิตกรดอะมิโน (Amino Acid Production), การผลิตไวตามิน (Vitamin Production), การใช้เป็นโปรตีนเซลล์เดียว (Single Cells Protein), รวมไปถึงการใช้ในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์และการย่อยสลายอินทรีย์สารในบ่อเพาะและเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้ง) เป็นการควบคุมรักษาสิ่งแวดล้อม

จุลินทรีย์ ความสัมพันธ์ต่อสิ่งที่มีชีวิตและธรรมชาติ
  (Microorganisms Relation with Living Things and Nature)
มีหลักฐานที่พิสูจน์แล้วว่า จุลินทรีย์เป็นปฐมของสิ่งมีชีวิตที่ก่อกำเนิดในโลกนี้ จากการที่เราพบว่ามีจุลินทรีย์มากมายหลายหมื่นแสนสายพันธุ์ (Species) อยู่ทั่วไป ในที่นี้จะกล่าวสรุปเพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อประกอบดังนี้ คือ
1. มนุษย์ (Human)
1.1 ภายใน (Internal) ในอวัยวะกลวง (gut organs) ทั้งหมดของมนุษย์ จะพบว่ามีจุลินทรีย์
แทรกอยู่ตามเยื่อบุ (asociated in mucous membrane) และเป็นแหล่งอาศัย (habitat) เริ่มตั้ง
แต่โพรงปาก, โพรงจมูก, ท่อลม, หลอดอาหาร, บางส่วนของกระเพาะ, ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่, ทวารหนัก, อวัยวะขับถ่าย และอวัยวะสืบพันธุ์(Miles, 1993)
1.2 ภายนอก (External) เช่นเดียวกัน จะมีจุลินทรีย์หลายชนิดแทรกอยู่ตามผิวหนังกำพร้า และในต่อม ขุมขน
1.3 ทางตรงและทางอ้อม (Direct and Indirect) ทั้งในรูปที่นำมาเป็นอาหารโดยตรง ในรูปของการนำไปใช้ผลิต หรือสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น การนำไปทำเป็นอาหารหมักดอง (ผักดอง, นมเปรี้ยว, เนยแข็ง, แหนม) รวมไปถึงการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น ผลิตเหล้าองุ่น, เหล้าผลไม้, ผลิตแอลกอฮอล์, ผลิตสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือที่เรารู้
จักกันดีในชื่อของผงชูรส รวมถึงการใช้เป็นสารเสริมชีวนะในมนุษย์ เป็นต้น
2. สัตว์ (Animals)
2.1 ภายใน (Internal) ก็เช่นเดียวกัน ที่จุลินทรีย์มากมายหลายชนิด จะแทรกตามเยื่อบุ เป็นแหล่งอาศัยอยู่ตามอวัยวะกลวงเช่นเดียวกันกับมนุษย์
2.2 ภายนอก (External) ก็เช่นเดียวกันกับมนุษย์
2.3 ทางตรงและทางอ้อม (Direct and Indirect) ในปัจจุบันนี้จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเรื่องโปรไบโอติค น้ำย่อย เป็นต้น
3. พืช (Plants)
3.1 ภายใน (Internal) ถึงแม้ว่าข้อมูลการศึกษายังไม่แพร่หลายว่ามีจุลินทรีย์ชนิดใดบ้างนอกเหนือไปจากเชื้อราในตระกูล Mycorrhiza spp. โดยเฉพาะ Vesicular Arbuscle- mycorrhiza (VA-Mycorrhiza) ที่แทรกอยู่ในรากพืช หรือ endo-mycorrhiza รวมไปถึงพวกตรึงไนโตรเจน (Nitrogen Fixation Bacteria) ในตระกูล Rhizobium spp. ก็เป็นที่ยอมรับว่าในลำต้นและรากของพืช ก็มีจุลินทรีย์แทรกอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน
3.2 ภายนอก (External) ในดินที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อนำมาตรวจนับจะพบว่ามีจุลินทรีย์มากมายหลายตระกูลและสายพันธุ์
3.2.1 กลุ่มที่ย่อยสลายอินทรีย์สาร (Organic matters) จากโครงสร้างขนาดใหญ่ให้เล็กลงเป็นปุ๋ย หรือดินฮิวมัส (humus) ได้แก่ เชื้อราในกลุ่ม ecto-mycorrhiza, Bacillus spp., Saccharomyces spp. เป็นต้น
3.2.2 กลุ่มที่ย่อยสลายอินทรีย์สาร (In-organic matters) เช่น พวกที่ย่อยสลายธาตุฟอสฟอรัสจากหินฟอสเฟต ให้อยู่ในรูปธาตุฟอสฟอรัสที่พืชจะนำไปใช้ได้ (available phosphorous) เช่น Bacillus spp., Pseudomonas spp., Thiobacillus spp., Aspergillus spp. เป็นต้น (มุกดา, 2543)
4. สิ่งแวดล้อม (Environment)
     จะกล่าวโดยสรุปเชื่อมโยงจากข้อที่ 3 คือ เราจะพบจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด ตระกูลและสายพันธุ์ ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งปฏิกูล ซากพืช ซากสัตว์ พบทั้งในสภาวะที่ต้องการออกซิเจน (aerobic) และในสภาวะที่ไม่ต้องการออกซิเจน (anaerobic)
     โดยสรุปแล้วในตอนนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่าจุลินทรีย์มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตการเจริญเติบโต การแพร่พันธุ์ของมนุษย์ สัตว์และพืช รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการมานานแล้ว เช่น Metchnikoff (1907) ที่กล่าวสรุปไว้ว่า "Gut microbial flora balancing, regulating and controlling of animals health" เช่นเดียวกันในความเชื่อและผลการปฏิบัติของ Teruo Higa (2000) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจุลินทรีย์มีบทบาทที่สำคัญในการดำรงชีพของสรรพสิ่งทั้งหมดในโลกทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง "A Future Reborn"

กระบวนการผลิตปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม
(Farm Animals Production and Environment)
     เกรียงศักดิ์ (Poonsuk K, 1994) ได้ทำการทดลองผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโปรไบโอติค ทั้งในไก่เนื้อและไก่พ่อแม่พันธุ์ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้โปรไบโอติคทดแทนการใช้สารเคมีหรือยาต้านจุลชีพเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต จากการศึกษาโดยต่อเนื่องจากการสนเทศเอกสารต่างประเทศ ในประเทศจนกระทั่งได้มีการวิจัยนำผลงานวิจัย มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างในกลุ่มของโปรไบโอติค, กลุ่มเอ็นไซม์, กลุ่มย่อยสลายสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์ และกลุ่มกรดอินทรีย์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ ผลงานที่รวบรวมได้ดำเนินการจัดประชุมทางวิชาการ เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมไทย ในระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2545 ณ. โรงแรมริมปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีผลงานการนำเสนอของนักวิจัยทั้งหมด 28 เรื่อง และ 6 บทความ ครอบคลุมทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) แสดงให้เห็นว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ ใช้ในการผลิตปศุสัตว์ได้ดีหรือดีกว่าการใช้สารเร่งการเจริญเติบโต

การทำงานจุลินทรีย์ที่แทรกในร่างกายมนุษย์ สัตว์ พืช และธรรมชาติ
     (Action of Microorganisms Associated in Human Animals Plants and Nature)
เราอาจเรียกรวม ๆ กันว่า จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นพวกจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ (beneficial microorganisms) หน้าที่สำคัญที่เป็นพื้นฐาน คือ เป็นด่านแรกของกลไกการต่อสู้โรค (First line of defence mechanism) หรือการติดเชื้อ (infection) จากจุลินทรีย์ตัวก่อโรค หรือสิ่งแปลกปลอม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและมีการยอมรับ คือ กลไกในการแข่งและข่ม หรือที่เราเรียกกันทับศัพท์ว่า "คอมเพทติตีฟเอ็กซ์คลูชั่น" หรือ "ซี.อี." (Competitive Exclusion/ CE) ซึ่ง Nurmi และ Ratala (1973) ได้เสนอนิยามคำนี้ขึ้นจากการทดลองให้ลูกไก่กินกากอุจจาระจากแม่ไก่ สามารถป้องกันการติดเชื้อ อี.โคลัย (E. coli) และซาลโมเนลล่า (Salmonella) ได้ นักวิชาการหลายรายนิยมเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "Nurmi' s Phenomena" เพื่อเป็นเกียรติในการค้นพบ เราอาจอธิบายปรากฎการณ์ ซี.อี. ก็คือ การกระทำร่วมกัน (interaction) ของกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ในการป้องกันการเกาะติด หรือทำลายจุลินทรีย์พวกที่เป็นตัวก่อโรค เกรียงศักดิ์ (2538) ได้สรุปกลไกการทำงานของ ซี.อี. ดังนี้คือ
1. ในขั้นแรกดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ามันแทรกอยู่ตามเยื่อบุของอวัยวะกลวง จึงเป็นแผ่นฟิล์ม (micro-film) เคลือบป้องกันการเกาะติดของจุลินทรีย์ตัวก่อโรคกับเยื่อบุของตัวอาศัย (host)
2. หลายชนิดมีความสามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสันดาป (metabolic products) ที่สำคัญได้แก่
2.1 กรด (Acid) มีหลายชนิด แต่ที่สำคัญพบได้บ่อย คือ กรดแลคติค (Lactic acid), กรดไขมันระเหิด (Volatile fatty acids, VFA) กรดพวกนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายจุลินทรีย์ตัวก่อโรค
2.2 แบคเทอริโอซิน (Bacteriocin) เป็นสารปฏิชีวนะที่สร้างขึ้นมาจากพวกจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์หลายชนิด ตัวอย่างได้แสดงไว้ในตารางที่ 1 (Dick, 1993)

ตารางที่ 1 จุลินทรีย์ที่สร้างแบคเทอริโอซิน ชนิดและคุณสมบัติ

Organisms
Bacteriocin
Inhibiting
Bacilli Subtilin
Gram's positive
  Bacitracin bacteria
Lactobacilli Nisin, Lacticin 48, Gram's positive
  Sakacin-A Clostridia
  Mesenterocin-5  
Pediococci Pediocin-A Staphylococci
  Pediocin-PA1 Clostridia
    Listeria

2.3 น้ำย่อย (Enzymes) Wenk (1992) ได้อธิบายว่า ในกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์นั้นจะเป็นการทำงานของน้ำย่อยที่มาจากหลายแหล่ง คือ ชนิดนอกตัว (Exogenous enzymes) ซึ่งมีในอาหาร, ชนิดในตัว (Endogenous enzymes) คือ น้ำย่อยที่หลั่งมาจากต่อมน้ำย่อยในตัวสัตว์ และจากจุลินทรีย์ (Microbial enzymes), Jorgensen (1988) ได้เคยวาดรูปแสดงตำแหน่งและปริมาณการย่อยอาหาร
2.4 ไวตามิน (Vitamin) ที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวตามิน B สร้างจากจุลินทรีย์หลายชนิด
2.5 กรดอะมิโน (Amino-acids) ได้จากการที่มันเป็นตัวหลักในการย่อยสารอาหาร (รูปที่ 1) ในส่วนของลำไส้ใหญ่ เมื่อมันตายลงก็จะสลายตัวให้เป็นโปรตีนเซลล์เดียว (Single cell proteins) ซึ่งเป็นส่วนประกอบจากกรดอะมิโน
3. กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มโรค (Immunomodulator) ในปศุสัตว์ได้มีการพิสูจน์เด่นชัดว่าจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มโรคได้ มีการทดลองในไก่ (เกรียงศักดิ์, 2537, เชิดชัยและคณะฯ 2538)
4. ย่อยสลายสารพิษ (Toxins degrading), Stanley และคณะฯ (1993), ได้ทดลองให้ไก่กินอาหารที่มีสารพิษอะฟล่า (Aflatoxin) ผสมกับเชื้อส่า (Saccharomyces cerevisciae) พบว่าไก่ที่กินเชื้อส่าผสมสารพิษ อัตราการเจริญเติบโตปกติ เมื่อเทียบการแกร็นของกลุ่มที่ได้รับสารพิษเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกัน Devegowda (1995) ได้ทดลองให้ไก่กินสารเสริมชีวนะ ในชื่อการค้า Yea-Sacc 1026 ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเชื้อส่าสามารถสลาย (degrading) สารพิษอะฟล่าได้
5. ประสิทธิภาพอื่น ๆ (Ohers effective), Dick (1993) ได้กล่าวสรุปว่าจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่, มะเร็งของต่อมลูกหมาก, ลดปริมาณของโฆเลสเตอรอลในกระแสเลือด, ลดอัตราการเกิดอาการท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง เมื่อเปลี่ยนอาหารหรือสถานที่ที่ทราบกันในชื่อ Travelling diarrhea
ที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นการประมวลประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ในมนุษย์และสัตว์ ได้ขยายความไปเป็นประสิทธิภาพของการใช้สารเสริมชีวนะ (probiotic) ในมนุษย์และสัตว์ ต่างกันที่หากมนุษย์และสัตว์แข็งแรงจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์เหล่านี้จะมีอยู่มากและเพียงพอต่อกลไกการทำงานในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างจากกรณีที่สุกรเป็นโรคท้องเสียจะพบว่าจำนวนของแบคทีเรียที่มีคุณประโยชน์ที่อยู่ในลำไส้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกันกับจำนวนเชื้อ อี.โคลัย
ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างสมดุลย์ภายในร่างกาย โดยเฉพาะในท่อทางเดินอาหาร จึงเกิดแนวความคิดในการผลิตกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ ผสมในอาหารหรือในน้ำดื่มให้กินเป็นระยะ ๆ หรือต่อเนื่อง เพื่อเป็นการคงจำนวนของจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์เหล่านี้ ที่เรารู้จักกันในกลุ่มสารเสริมชีวนะ หรือที่เรียกทับศัพท์ว่าโปรไบโอติค (probiotic)
จุลินทรีย์กับการเลี้ยงกุ้ง (Microorganisms and Shrimp Production)
     เกรียงศักดิ์ (2544 ก และ ข) ได้สรุปไว้ว่าจุลินทรีย์กับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีความสัมพันธ์และสำคัญ "ปรากฎในทุกรูปแบบและขั้นตอนของการเลี้ยง" โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง หากการเลี้ยงแบบธรรมชาติเดิมหรือเลี้ยงบางมาก จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำและพื้นบ่อ ก็จะมีหน้าที่ในการย่อยสลายขี้ของกุ้งและอินทรีย์สารอื่น ๆ แต่ถ้าหากมีการเลี้ยงแบบพัฒนาในสภาพที่เราเรียกว่า intensive rearing กล่าวคือ เลี้ยงแบบหนาแน่น และให้อาหารกินเต็มที่ ดังนั้นในบางสภาวะที่อากาศแปรปรวน หรือกุ้งอยู่ในสภาวะเครียดจากสาเหตุใดก็ตาม อาหารที่กุ้งกินไม่หมดก็จะเกิดการเน่าเสียจากจุลินทรีย์หลาย ๆ ชนิด มีการแย่งใช้ออกซิเจนทำให้ออกซิเจนลดลง ปัญหาที่ตามมา คือ ในสภาวะที่ไม่มีอากาศออกซิเจนผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสันดาปที่จุลินทรีย์ปล่อยออกมาเป็นพวกก๊าซพิษ ได้แก่ ก๊าซ แอมโมเนีย ก๊าซไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์), ก๊าซมีเธน และก๊าซอื่น ๆ อีก Jacques (1989) ได้อธิบายกระบวนการเกิดก๊าซพิษ จากการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลมูลสัตว์ จึงส่งผลกระทบอย่างรุ่นแรงต่อกุ้ง หากเกิดสภาวะนี้กับน้ำในบ่อเลี้ยง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในระยะที่มีการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตามมาและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ จุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมคุณภาพน้ำ
ในแง่ของการใช้จุลินทรีย์ หรือผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เป็นสารเสริมชีวนะ (โปรไบโอติค) นั้น ยังมีข้อมูลในเชิงวิชาการสนับสนุนน้อยมาก จากการสืบค้นจากระบบ CABI (ห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มีเพียง 10 เรื่อง เท่านั้นที่มีการทดลองเกี่ยวข้องกับสารเสริมชีวนะ ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เช่น ศิริรัตน์และคณะฯ (2543) ได้ทำการทดลองให้กุ้งกินเชื้อ Bacillus S11 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อวิบริโอ ฮาวิไอได้ Suralikar และ Sahu (2001) ทำการทดลองเชื้อ Lactobacillus Cremoris ในการเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกราม (post lava), Vasechram และ Ramasamy (2003) ได้ทดลองเชื้อ Bacillius subtilis BT 23 ในกุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ก็มีการทดลองให้เชื้อ V. alginolyticus ของนักวิชาการจากประเทศเม็กซิโก จะเห็นได้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มประเทศที่เพาะและเลี้ยงกุ้งเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สำหรับใช้ในการผลิตกุ้งกุลาดำ (Microbail Product for Shrimp production)
     เมื่อเราพูดถึงจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่เตรียม หรือสกัดจากจุลินทรีย์ในวงการเลี้ยงสัตว์แล้ว เป็นที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ (ไก่, สุกร) กับอุตสาหกรรมการเพาะและเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ถึงแม้ว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจะมีการเริ่มต้นเลี้ยงอย่างจริงจังในประเทศไทยมาประมาณ 18 ปี เท่านั้น (2528) ส่วนการเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรม (ไก่) เริ่มจริงจังประมาณปี พ.ศ. 2514 (32 ปี) แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รู้จักและใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในรูปแบบต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ใช้ย่อยสลายอินทรีย์สาร เพื่อปรับสภาพน้ำและควบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง ซึ่งเกิดจากการแนะนำให้ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 (ชั่วระยะ 8 ปี ล่วงมานี้) เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำตามแนวความเชื่อเดิม ในทางตรงกันข้ามจุลินทรีย์ที่ใช้ในการควบคุมย่อยสลายสิ่งปฏิบกูลมูลสัตว์ เพิ่มจะเริ่มมีการยอมรับและนำไปใช้กันบ้าง ประมาณปี พ.ศ. 2542 นี้
      นอกจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในการควบคุมรักษาสมดุลย์ของน้ำในบ่อเลี้ยงแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในรูปแบบอื่น ๆ กันอย่างแพร่หลาย แทบจะกล่าวได้ว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของบ่อเลี้ยงกุ้ง เคยใช้และยังใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ซึ่งพอสรุปได้ในขณะนี้ว่ามี 5 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มสารเสริมชีวนะ (Probiotic Group) หรือ Direct Fed Microorganisms, DFM ซึ่ง USFDA แนะนำให้เรียกคำนี้แทน Probiotic
ในระยะแรก ๆ เป้าหมายในการนำมาใช้มีหลักการเพียงเพื่อต้องการสร้าง
ปรากฎการณ์ CE ในท่อทางเดินอาหารกุ้ง จากการที่ในปศุสัตว์มีการทดลองและเชื่อว่าสารเสริมชีวนะ (โปรไบโอติค) มีประสิทธิภาพในการป้องกัน การติดเชื้อจากกลุ่มจุลินทรีย์ตัวก่อโรคในท่องทางเดินอาหาร (enteropathogen) จึงประยุกต์มาเริ่มแนะนำให้ใช้คลุกอาหาร ในช่วงที่กลุ่มแบคทีเรียวิบริโอเรืองแสงระบาดทั่วไป (2536-2538) ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แนะนำให้ใช้ในปศุสัตว์ (ไก่และสุกร) หลายชนิดจะมีจุลินทรีย์ในกลุ่ม Lactobacilii, Enterococci และ Saccharomyces ทั้งชนิดที่มีเชื้อตัวเดียวหรือหลายชนิดของเชื้อรวมกัน ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น (แม้แต่ในปัจจุบัน) เรายังไม่ทราบว่าจุลินทรีย์ชนิดใดบ้างที่เป็นสารเสริมชีวนะของกุ้ง แต่ในปัจจุบันนี้เราพอมีแนวทางว่า แบคทีเรียในตระกูล Bacillus spp. น่าจะเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นตัวเสริมชีวนะ (Sirirat et al, 2000, Vasecharan และ Ramasamy, 2003) ส่วนแบคทีเรียตัวอื่น ๆ เช่น V. alginolyticus และ Lactobacillus cremoris ก็มีผู้ศึกษาเช่นเดียวกัน จนล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2542 จึงเริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเองโดยนักวิชาการไทยหลายกลุ่ม การคิดค้นศึกษาและวิจัยสารเสริมชีวนะที่เหมาะสม ที่จะใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจะเห็นได้จากแหล่งทุนวิจัยที่สำคัญ เช่น สวทช. สภาวิจัยแห่งชาติและกระทรวงเกษตรฯ ได้มีโครงการหลายโครงการทำการศึกษาอย่างเร่งด่วน
2. กลุ่มจุลินทรีย์ควบคุมและบำบัดน้ำเสีย (Waste Water Treatment Microorganisms) ได้กล่าวนำมาแล้วว่า    กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเริ่มแรกที่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในระยะต่อมาทดแทนการใช้สารเคมีฆ่าเชื้อ ในการควบคุมบำบัดและรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำก่อนปี พ.ศ. 2537 เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและบางชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำในโรงงานบำบัดน้ำเสีย (waste water treatment plant) จากชุมชนหรือเมืองใหญ่ มีส่วนน้อยที่ใช้ในบ่อเลี้ยงปลา ในประเทศไทยก็มีการนำเอาจุลินทรีย์ที่หมักในรูปน้ำ ที่เราทราบกันดีคือ จุลินทรีย์ EM มาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ผลิตโดยคนไทยออกมามากมายหลายกลุ่มส่วนใหญ่แล้วผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเป็นแบคทีเรียในตระกูล Bacillus spp. ที่เด่นมากคือ B. subtilis และ B. licheniformis อาจจะมีจุลินทรีย์ชนิดอื่นประกอบ เช่น Saccharomyces, Enterococci (Streptococcus), Lactobacilli และ Nitrobacter เป็นต้น
3. กลุ่มหมักดอง (Fermented Product)
     หรือที่นิยมเรียกกันว่า "น้ำหมักชีวภาพ" เกิดจากระบวนการ hydrolysis ของอินทรีย์สาร เช่น เศษเนื้อปลา, เศษผัก และผลไม้มาหมักรวมกัน โดยวิธีการเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์ ปล่อยให้เกิดกระบวนการย่อยตัวเอง (autolysis) และเร่งปฏิกิริยาย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ ในปัจจุบันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยทฤษฎีแล้วน้ำหมักลักษณะนี้นับว่าเป็นอาหารที่อุดม (enriches) ด้วยกรดอะมิโน ไวตามิน แร่ธาตุ ที่สำคัญที่เราไม่ทราบว่าคืออะไรนั้นคือ UGF (Un-identified Growth Factor) หรือเป็นกลุ่ม PQQ (Pyrroloquinoline Quinone) จากการศึกษาของ Adachi et al (1990) และ Ameyama et al (1985) จากการติดตามพบว่า ในบ่อที่เลี้ยงด้วยน้ำหมักที่มีคุณภาพ กุ้งจะเจริญเติบโตได้ดี ปัญหาของน้ำเสียก็จะพบได้น้อย หากมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงมาตรฐานความคงที่ของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยในคุณภาพ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำและเกษตรกรยังสามารถผลิตเพื่อใช้ได้เอง ประการสำคัญคือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่มีส่วนประกอบของสาร
อนินทรีย์สาร เคมี ยา หรือสารอันตรายชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศก็มีเช่นเดียวกัน เช่น น้ำหมักจากเศษปลาซาลมอน เศษปลาทูน่า เป็นต้น ตัวอย่างการศึกษาเบื้องต้นของจุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ในน้ำหมักชนิดต่าง ๆ แสดงไว้ในตารางที่ 3 และ 4

4. ของเหลือใช้ (By Product)
    ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการหมักเหล้า เบียร์ เช่น ผงส่า (Yeast powder) และเศษของเหลวเหลือใช้จากการหมักผงชูรส หรือที่นิยมเรียกกันว่า อามิอามิ ทั้งสองชนิดนี้โดยกระบวนการแล้วจะใช้เชื้อส่า (Yeast, Saccharomyces) เป็นหลักในการบ่มหมัก ยกเว้นแต่กากน้ำตาลที่ไม่เป็นกระบวนการหมัก ของเหลือใช้เหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าอุดมด้วยสาร UGF เช่นเดียวกันกับกลุ่มน้ำหมักชีวภาพ
5. สารสกัดจากจุลินทรีย์ (Microbial Extraction)
     จากการศึกษาและวิจัยพบว่าตัวของจุลินทรีย์ นอกจากจะนำมาใช้โดยตรง (Whole cell) แล้วส่วนประกอบอื่น ๆ ของตัวมันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น
5.1 ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสันดาป (Metabolic Product) ที่เราทราบกันดีและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นอุตสาหกรรม ก็คือ
5.1.1 น้ำย่อย (Enzymes) ชนิดต่าง ๆ ทั้ง amylase, proteiase, Lipase,Cellulase เป็นต้น ผลิตจากเชื้อรา ส่าและแบคทีเรีย เช่น Aspergillus niger (ต้นแบบของการผลิต amylase และ cellulase) Saccharomyces cereviciae (ต้นแบบการผลิต amylase) Bacillus subtilis (ต้นแบบการผลิต proteiase)
5.1.2 ไวตามิน (Vitamins) โดยเฉพาะกลุ่ม B-vitamins ที่เราทราบว่าพวกส่า (Saccharomyces spp.) สามารถผลิตไวตามินได้หลายชนิด
5.2 สารสกัด (Extraction) ทราบกันดีว่าโครงสร้างผนังเซลล์ของพวกส่า มีสารประกอบของพวก poly-saccharides, และ oligo-saccharides เป็นสารประกอบที่สำคัญที่มีความจำเพาะ (competitve) ในการจับจุลินทรีย์ตัวก่อโรคของระบบทางเดินอาหารในมนุษย์และสัตว์ เช่น E.coli, Salmonella, เป็นต้น การที่มันมีส่วนจำเพาะเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเหล่านี้เกาะติดกับเยื่อบุท่อทางเดินอาหารได้ เชื้อโรคพวกนี้จะถูกขจัดออกนอกร่าง
กายโดยกระบวนการ peristalsis ปัจจุบันนี้มีการผลิตออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลายเช่น ผลิตภัณฑ์ Bio-mos (Altech lnc, USA) นอกจากนี้ผนังเซลล์ของจุลินทรีย์บางชนิด เช่น Lactobacilli, Pediococci ยังมีส่วน
ประกอบของสาร peptidoglycan มีหน้าที่นอกจากจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มต่อโรค เช่นเดียวกันกับ oligo-saccharide แล้วยังมีคุณสมบัติเป็นตัวป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะไวรัสตัวแดงดวงขาว
ในกุ้งกุลาดำ ก็มีการทดลองว่าสารชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ (Atami, 2542) จะเห็นได้จากในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ออกแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง นำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

การประเมินผลการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในการเลี้ยงกุ้ง (Evaluation of Microbial Product in Shrimp Production)
     สำหรับการทดลองในภาคสนาม (field trail) ในด้านประสิทธิภาพของสารเสริมชีวนะ (probiotic) กับกุ้งกุลาดำนั้น เท่าที่ได้ติดตามมายังไม่มีผลงานการทดลองที่ดำเนินการครบถ้วนในรูปแบบของการนำเสนอเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ที่พบมากเป็นรายงานจากการโฆษณาของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ในรูปของหนังสือรายเดือนและจุลสาร
     ในความคิดเห็นของผู้บรรยายก็มีความเชื่อว่า ผลของการทดลองใช้จริงในบ่อเลี้ยงน่าจะประสบผลสำเร็จบ้างไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเสริมชีวนะมีการแนะนำและวางขายหลายรูปแบบและหลายยี่ห้อมาโดยตลอด โดยเฉพาะในระยะนี้มีการกล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และกุ้งขาวแวนาไมน์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและเคมีบำบัด เหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าผลการทดลองในภาคสนามนั้น เราไม่สามารถเก็บข้อมูลได้โดยครบถ้วน ไม่เหมือนกันกับการทดลองในปศุสัตว์ เนื่องจากมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาเกี่ยวข้อง เช่น พื้นฐานความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรผู้ทดลอง (หรือแม้แต่นักวิชาการบางคน) ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การแปรปรวนของลม ฟ้า อากาศ ปัญหาเรื่องมาตรฐานคุณภาพของอาหาร ประการสำคัญ คือ เราทำการทดลองกับสัตว์ที่ไม่เห็นตัว คือ กุ้งอยู่ในน้ำ
เมื่อเปรียบเทียบความยากง่ายของการศึกษาสารเสริมชีวนะระหว่างปศุสัตว์และกุ้งกุลาดำ
1. ชนิดของจุลินทรีย์ (ตารางที่ 2)   
ปศุสัตว์ (รวมมนุษย์)
กุ้ง (กุลาดำ)
Lactobacilli, Bacilli, Enterococci, Pediococci, Bacilli?เป็น probiotic ของกุ้ง
Saccharomyces, Leuconostoc, Aspergilli, Lactobacilli?
Bifidobacterium etc. Pediococci?
  มีแนวโน้มว่าพวกแบคทีเรียในตระกูล Bacillus spp. เป็นตัวสำคัญที่จะเป็นสารเสริมชีวนะในกุ้งกุลาดำ จากการศึกษาของสิริรัตน์ (2543), Ramasmy (2546) นอกจากนี้เกรียงศักดิ์และสุภาพ (2540, ส่วนตัว) ได้ทำการนับจำนวนแบคทีเรียจากส่วน hepatopancreas และ fore stomach ของกุ้งแช่บ๊วย, กุ้งม้าลาย และกุ้งกุลาดำ รวมกันทั้งหมด 126 ตัวอย่าง ในทุกตัวอย่างจะพบแบคทีเรียพวก Bacilli จำนวนระหว่าง 1010 - 1012 cfu/gm ในขณะเดียวกันไม่พบเชื้อ lactobacilli หรือเชื้ออื่น ๆ ในกลุ่มที่ใช้เป็นสารเสริมชีวนะในปศุสัตว์ ยกเว้น 3 ตัวอย่างที่พบ Enterococci ในกุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง และมีการผสมผลิตภัณฑ์โปรไบโอติคให้กินเท่านั้น
2. ขนาดที่ใช้ (Dosage) หรือจำนวนที่เหมาะสม
     ในปศุสัตว์ (สัตว์บก) นั้น โปรไบโอติคจะมีการผลิตออกมาทั้งในรูปผงพร้อมผสมอาหารและชนิดละลายน้ำดื่ม การกำหนดจำนวนของเชื้อที่นำมาใช้โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 108-109 cfu/gm/ml อัตราการผสมอาหารจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่ออาหาร 1,000 กิโลกรัม (ตัน) เราจึงรู้ว่าไก่หรือสุกรแต่ละตัวได้รับโปรไบโอติคไปจำนวนเท่าใด (เซลล์) แต่เมื่อมาดูในกระบวนการให้สารโปรไบโอติคในกุ้งแล้ว ที่ปฏิบัติกันอยู่ของเกษตรกรก็คือมีการนำมาคลุกหรือเคลือบกับเม็ดอาหารก่อนให้กุ้งกิน ดังนั้นเมื่อหว่านลงไปในบ่อเราไม่สามารถคำนวณได้ว่า กุ้งกินโปรไบโอติคไปจำนวนเท่าใด (เซลล์/กรัม) สิ่งที่เคลือบหลุดออกไปจากพื้นผิวอาหารมากน้อยเพียงใดเมื่อลงไปในน้ำ แสดงถึงจำนวนประมาณของโปรไบโอติคที่กุ้งจะได้รับน้อยไปหรืออาจไม่ได้รับเลย
     ดังนั้นการใช้โปรไบโอติคกับกุ้งนั้น (ในกรณีที่เราทราบแน่ชัดว่าเป็นจุลินทรีย์ชนิดใดและสามารถผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว) มีหนทางเดียวที่จะกำหนดขนาด (dosage) คือต้องมีการผสมในอาหารจากโรงงานโดยตรง แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ ตัวอย่างเช่น ในปศุสัตว์ในระยะแรก ๆ ทางโรงงานอาหารสัตว์มักจะไม่ยอมผสม เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุน (แต่ปัจจุบันหลายโรงงานยอมผสม เนื่องจากข้อห้ามการใช้สารเคมีปฏิชีวนะเป็นสารเร่ง) ถึงแม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์โปรไบโอติคสำหรับกุ้งแล้ว และทางโรงงานยอมผสมอาหาร ก็ยังมีปัญหาว่าโปรไบโอติคที่ผลิตมาสามารถทนความร้อน (ผ่าน) กระบวนการอัดเม็ดและกระเทาะ (pelleting and extruding) ได้หรือไม่ มันอาจตายหรือถูกทำลายไปก่อนก็ได้
3. สภาพแวดล้อม (Environment)
     ได้กล่าวมาแล้วว่าเราทำการทดลองกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำไม่เห็นตัว ไม่เหมือนกับปศุสัตว์ (ไก่-สุกร) เราจะเห็นความเป็นอยู่ได้ชัดเจน เราสามารถควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในระบบ โดยเฉพาะโรงเรือนแบบใหม่ที่ใช้ในระบบ Cool Cells System หรือ Evaporative System นั้น ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติเมื่อเทียบกับกุ้งแล้ว จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่นในกรณีท้องฟ้ามืดครึ้ม (ฟ้าปิด) หรือฝนนอง หรือแม้แต่อากาศหนาวเย็น อากาศร้อน (อุณหภูมิน้ำร้อน) ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกุ้งได้ง่าย ดังนั้นปัจจัยที่แปรปรวนเหล่านี้ จึงทำให้การทดลองในบ่อเลี้ยงมักจะไม่ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์
ตารางที่ 3 ชนิดและจำนวนจุลินทรีย์ที่ตรวจนับจากน้ำหมักเนื้อสัตว์ (ปลา)

Microorganisms
Viable Count (cfu/ml)
Bacilli 100000000 - 100000000000
Lactobacilli 1000 - 100000000
Saccharomyces 100-100000
Enterococci 100-1000000

ตารางที่ 4 ชนิดและจำนวนจุลินทรีย์ที่ตรวจนับจากน้ำหมักผัก-ผลไม้
Microorganisms
Viable Count (cfu/ml)
Bacilli 10000-100000000
Lactobacilli 1000000000 - 1000000000000
Saccharomyces 10000000 - 1000000000
Enterococci 10-100000

ผลเสียจากการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในการผลิตกุ้ง (Adverse Effects of Microbial Products on Shrimp Production)
     จากที่ได้ติดตามมา (สุรศักดิ์ ดิลกเกียรติ) ได้พบและรับทราบเพียงผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวเท่านั้น คือในกลุ่มที่ใช้ในการควบคุมและบำบัดน้ำเสีย มีอยู่ 3 กรณี คือ
1. ในบ่อเลี้ยงที่มีการตกค้างของอินทรีย์สารมาก และในบ่อที่มีการให้อาหารเกิน เมื่อมีการเติมจุลินทรีย์ลงไปในปริมาณที่มาก จุลินทรีย์จะแบ่งตัวทวีจำนวนมากมาย จะไปแย่งใช้ออกซิเจน โดยเฉพาะในเวลากลางคืนเมื่อออกซิเจนไม่พอ กุ้งจะเครียด ว่ายน้ำเข้ามาเกาะขอบบ่อ หากแก้ไขไม่ทันจะพบว่ามีกุ้งตายได้ ในกรณีนี้เราอาจสังเกตอาการเพิ่มเติมคือ ที่ปลายระยางค์จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง รอยโรคคล้ายการติดเชื้อวิบริโอ มีผู้แนะนำให้แก้ไขโดยการละลายครึ่งโด๊สของยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิด สาดลงไปเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ขยายจำนวนหนาแน่น
2. ในกรณีที่อากาศร้อน หมายถึงอุณหภูมิของน้ำในบ่อสูงมากกว่า 28 องศาเซลเซียส จุลินทรีย์จะเจริญเติบโตและแบ่งตัวได้ดียิ่งในกรณีที่ให้อาหารเกิน ก็จะประสบปัญหาการขาดออกซิเจนในบ่อได้เช่นเดียวกัน
3. ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ เมื่อจุลินทรีย์ไปขจัดของเสียในบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะบริเวณรวมเลนกลางบ่อ กุ้งจะไปรวมกันกลางบ่อเมื่อหว่านอาหาร กุ้งกลางบ่อจะไม่ได้รับอาหาร จะพบว่ามีการแกร็นหรือแตกไซซ์ เกษตรกรต้องสังเกตและเปลี่ยนพฤติกรรมการให้อาหาร

สรุป
     จุลินทรีย์มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต (คน สัตว์ และพืช) รวมไปถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิต (แร่ธาตุ, สารประกอบอนินทรีย์) ดังนั้นในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมถึงกุ้งกุลาดำก็เช่นเดียวกันที่จุลินทรีย์มีบทบาทตั้งแต่การเป็นปฐมของห่วงโซ่อาหาร (primary food chain) ระบิล (2543) ได้ศึกษาทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) ของลูกกุ้งกุลาดำ (P-15) พบว่ามีแบคทีเรียแออัดกันอยู่ ตั้งแต่โพรงปากจนถึงบริเวณกระเพาะส่วนหน้า (fore stomach) แสดงว่าจุลินทรีย์เป็นอาหารของลูกกุ้งวัยอ่อน ในการเพิ่มสารอาหารเรายังใช้จุลินทรีย์ในการเตรียมบ่อ ถึงแม้ว่าบางครั้งไม่มีการเติมจุลินทรีย์จากผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าหากเตรียมบ่อโดยการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น เนื้อปลา เป็ด หรือมูลสัตว์ (มูลไก่) ลงไป สิ่งเหล่านี้จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ธรรมชาติและปะปนมากับมูลสัตว์ ตลอดไปจนถึงการใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำการใช้เป็นสารเสริมชีวนะหรือใช้เป็นอาหารเสริมจากการหมัก รวมไปถึงการใช้ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการหมักสินค้า ตลอดจนการสกัดเอาน้ำย่อย สารอาหาร กรดอะมิโน ไวตามิน หรือโครงสร้างเซลล์ (เปปติโคกลัยแคน, โอลิโกแซคคาไรด์) เป็นต้น
เราอาจมีข้อโต้แย้งในบางครั้งถึงผลการทดลองประสิทธิภาพ แต่ก็ได้อธิบายแล้วว่ามันเป็นการยากที่จะประเมินผลได้โดยละเอียดเป็นแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Evaluation) เนื่องจากมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาเกี่ยวข้อง แต่ก็มีข้อมูลที่สนับสนุน คือในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวจุลินทรีย์ สารสกัดจากตัวจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการสันดาป มีการแนะนำแก่เกษตรกรมีการวางจำหน่ายอย่างแพร่หลายและมีการตอบสนอง (สั่งซื้อ) จากเกษตรกรโดยต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย
     ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในหลายครั้งว่า สิ่งใดที่มีคุณประโยชน์ก็มีโทษได้เช่นกัน อยู่ที่ความเหมาะสมหรือความสมดุลย์ เช่น ยาปฏิชีวนะ มีประโยชน์อย่างมากในการบำบัดรักษา (ฆ่า) เชื้อโรค ความจริงยาปฏิชีวนะหากจะนับก็คือ ยาพิษชนิดหนึ่งนั่นเอง ในปริมาณความเข้มข้นต่ำ ๆ ก็ฆ่าจุลินทรีย์ ในความเข้มข้นที่สูงมาก ๆ ก็อาจจะฆ่ามนุษย์และสัตว์ได้เช่นกัน จุลินทรีย์ (โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่ใช้ในการบำบัดควบคุมคุณภาพน้ำ ก็ไม่อยู่นอกเหนือที่กล่าวมา เช่น กรณีที่มีการ
บลูม (bloom) ในบ่อเลี้ยง เป็นตัวอย่างหนึ่งในส่วนของโปรไบโอติค หรือ DFM ยังไม่พบปัญหาทั้งในการใช้กับปศุสัตว์และในกุ้ง สามารถอธิบายว่าปริมาณและจำนวนที่สัตว์ได้รับจากการกินไม่มากเกินไปจากขนาดที่กำหนดให้ในปริมาณ 106-107 cfu/gm/ml จากการศึกษาของนักวิชาการหลายคณะ เช่น Savage (1977) พบว่ามีจุลินทรีย์แออัดกันอยู่ในกากอาหาร (intestinal content) มากกว่า 1,000,000,000,000 cfu/gm และส่วนใหญ่มันจะถูกขจัดออกนอกระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อคงจำนวนที่เหมาะสม ไว้ (Miles, 1993) จึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้โปรไบโอติค (หรือ DFM) การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้สัตว์กินไม่มีปัญหา แต่ก็ยังคงหลักการอยู่ที่ความเหมาะสม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าต้องมีความรอบรู้ ความชำนาญ และเป็นศิลปะหรือเทคนิคในการเลือกใช้ให้เหมาะสม (prudential use)

 


เอกสารประกอบ :
เกรียงศักดิ์ พูนสุข 2535ก.ผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมจากการเลี้ยงสัตว์,จุลสารสภาวะแวดล้อมปีที่ 11 ฉบับที่ 6 หน้า 20-33.
สุภาพ กำลังแพทย์ เบญจมาศ วงศ์สาลี นิตยา นิจถาวร และอนุรักษ์ รูปโฉม 2545.ผลของ Micro-Guard ต่อจำนวนจุลินทรีย์ในสิ่งรองนอนโรงเรือนไก่เนื้อ, ประมวลผลการประชุมวิชา
การเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมไทย จัดโดยสถาบันราชมงคลวิทยาเขตกาฬสินธุ์ ณ.โรงแรมริมปาว 23-25 พฤษภาคม หน้า 110-114.
เกรียงศักดิ์ พูนสุขและสุภาพ กำลังแพทย์ 2541.จำนวนและชนิดของจุลินทรีย์ในน้ำและดินตะกอนจากบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ (ข้อมูลส่วนตัว)
เกรียงศักดิ์ พูนสุข 2535 ข.เทคโนโลยีชีวภาพกับการเลี้ยงสัตว์.จุลสารยาและเคมีภัณฑ์สำหรับเลี้ยงสัตว์:ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2535 หน้า 1-13.
เกรียงศักดิ์ พูนสุข 2545.การผลิตสินค้าเกษตรในยุคต้นคริสศตวรรษที่ 21.ประมวลผลงานการประชุมวิชาการเรื่อง เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมไทย จัดโดยสถาบันราชมงคลวิทยาเขตกาฬสินธุ์ ณ.โรงแรมริมปาว 23-25 พฤษภาคม หน้า 10-19.
สาโรช ค้าเจริญ เยาวมาล ค้าเจริญ และอุไร แสนขุนท้าว 2545. ประสิทธิภาพของกระเทียมต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพซากของไก่เนื้อ. ประมวลผลงานการประชุมวิชาการเรื่อง เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมไทย จัดโดยสถาบันราชมงคลวิทยาเขตกาฬสินธุ์ ณ.โรงแรมริวปาว 23-25 พฤษภาคม หน้า 20.30.
เกรียงศักดิ์ พูนสุข 2546.วิกฤตการณ์การเลี้ยงสุกร.เอกสารประกอบการสัมมนางานวันเกษตรแห่งชาติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กุมภาพันธ์ 2546.
มุกดา สุขสวัสดิ์ 2543การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อไมโครไรซา.หนังสือเรื่องปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักพิมพ์โดเดียนสโตร์ วังบูรพา กรุงเทพ หน้า 43-48.
Methnikoff,E. 1907.Prologation of Life, G.P. Putmaris son Newyork. Higa, Teruo 2000.A Future Reborn แปลโดย ภาวุฒิ คุณวัฒนภักดี ISBN 974-90477-0-2, พิมพ์โดยบริษัทสยามออฟเซต จำกัด 9-9/1 ซ.ศรีอักษร ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพฯ.
Kriengsak Poonsuk 1994.Microbial Additive Possibility to Use For Increasing Poultry Production in Thailand. Proc. Asia-Pacific Lecture Tour, Altech Inc.USA. TP Lyons,Editor, Aug, 1994,pp. 119-125.
เกรียงศักดิ์ พูนสุข 2538.จุลินทรีย์สิ่งเติมในอาหารสัตว์กับการเลี้ยงสัตว์. เอกสารประกอบการสัมมนา บริษัท อินโนเวต คนร์ปอร์เรชั่น จำกัด 28 กันยายน 2538 ม ณ.โรงแรม แก่งคอยอินนท์ จ.สระบุรี.

Atthapol Suriyawongha 2002. Sarin Hatchery goes Disease-free: Aquaculture Magazine
Jul/Aug,2002 pp 14-17.
Dicks, M.T.loon (1993): Lactic Acid Bactcria, Understanding the Microorganism.The keys to
Suecessful Use in Maximizing Anti-Coliform and Anti-Saimonella Activityr Proc.
Ann. Symp Ninth Biotech. In the Feed. Industry, Alltech Inc, Ky USA. T.P. lyons,
pp. 151-168.
Jacques, K., and Bastin, R.W. (1989) : Waste Manajement ad Odor Control :
Comprehesine Planning Needs for Intensive Agricultune. Proc. Alltech's, fifth
Ann. Symp. Biotechnology in the Feed Industy, Ky, USA pp. 13-33.
Wenk, C. (1990) : Yeast Cultured, Lactobacilliaid mixfured of Enzymes in Diet for Growing
Pigs And Chicken umdc Sneiss Condifions : Biotech ad Feed Indust. Proc. Alltech
Sixth Ann. Symp. T.P. Lyons (ED). Ky, USA, pp 315-329.
Stamley, V.G., Ojo,R. , Woldesenbet,S.and Hutchisson, D.H. (1993): The Usee of
Saccharomyces Cerivisciae to suppress the Use of Sacchromyces Cereviscial to sepses
the effects of aflafoxicosis in broiles chicks Poulfy Sci 72:1867-1872.
Dewegowda,G.etal(1994).A Biological Approach to Control Aflatoxicosis, in Broiler Chickens
and Duckling by the Use of Saccharomyces cerevisciae Cultures Added Feed.
Proc.APLT., Alltechis, Nicolasuille, KY, USA, 15-26 Aug 1994.
Miles, R.D. (1993): Manipulation of Microflora of the Gastrointestinal Tract: Natural Ways to
Prevent Colonization by Pathogen. Proc. Ann. Symp. Minth, Biofech. In the Feec
Industry, Alltech. Inc. Ky, USA., T.P. Lyons, pp. 133-150.
ระบิล รัตนพานี(2545) วิกฤตการณ์ของการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทย ประมวลผลงาน
ทางวิชาการการประชุมเรื่อง เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมไทย จัดโดย
สถาบันราชมงคลวิทยาเขตกาฬสิน ณ โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสิน 23-24 พ.ค.
2546, หน้า 1-9.
เกรียงศักดิ์ พูนสุขและสุภาพ กำลังแพทย์ (2544) : เทคโนโลยีชีวภาพกับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ:
การสัมมนางานวันกุ้งสุราษฎร์ธานี กุมภาพันธ์ 2544
Sirirat Rengpipat, Sombat Rukpratanporn, Somkiat Piyathitivorakul and Piamsak Menaswet
"immunity Enhancement in Black Tiger Shrimp (P. monodon) by a Probiont bacterium
(Bacillus S-11) (2000) : Aquaculture, Vol 191 : 271-288.


Suralika, V., and Sahu, N.P. (2001) : Effect of feeding probiotic (Lactobacillus cremoris) on
growth and survival of Macrobrachium rhosenbergii post larae (J. of Appl. Anim. Res
vol 20 : 117-124.
Vaseeharan, B., and Ramasamy, P. (2003) Control of Pathogenic Vibrio spp. By Bacillus
subtilis BT23, a possible probiotic Treatment for black tiger shrimp P. monodon
Letters in Applied Microbiology Vol 36 : 83-87
สรุศักดิ์ ดิลดเกียรติ (2542) อุปนายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลไทย (ตัดต่อส่วนตัว)
Nurmi, E. and M.Ratala (1973), New Aspects of Salmonella Infection in Broiler Production,
Nature 241 : 210-217.
Adachi, O., Okamoto, K., Matsuchita, K., Shinakaw, E. and Amiyama, M. (1990): An Enzyme
Catalyzing Liberation of Pysroloquinoline Quinine (PQQ) from PQQ-Adducts. Agri.
Biol. Chem, 54 (9) 2481-2483
Ameyama, M., Shinagawam E., Matsushita, K and Adachi, O. (1985): Growth Stimulating
Activity for Microorganism in Naturally Occurring Substances and Partial
Characterization of the Activity as Pyroloquinoline Quinone (PQQ) Agr. Biol. Chem.
49 (3), 699-709
Savage, D.C. (1977) Microbial Ecology of the gastrointestinal tract. Ann. Rev. Microbial 31 : 107

โดย : โกสินทร์  เมื่อ : 23/03/2004

เอกสารอ้างอิง : 

http://www.nicaonline.com/articles2/site/view_article.asp?idarticle=131

Copyright © 2004 - 2005 www.geocities.com/kosin65 All rights reserved.